Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
13 ก.พ. วันถุงยางอนามัยสากล เผย 13 เรื่องถุงยางอนามัย ที่คุณต้องแปลกใจ

13 ก.พ. วันถุงยางอนามัยสากล เผย 13 เรื่องถุงยางอนามัย ที่คุณต้องแปลกใจ

13 ก.พ. 68
15:29 น.
|
144
แชร์

วันถุงยางอนามัยสากล ตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์และส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ความเป็นมาของวันถุงยางอนามัยสากล

วันถุงยางอนามัยสากล เริ่มต้นจากการริเริ่มของมูลนิธิเอดส์ เฮลธ์แคร์ (AIDS Healthcare Foundation หรือ AHF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านการป้องกันและรักษาโรคเอดส์ โดยเริ่มจัดงานวันถุงยางอนามัยสากลครั้งแรกในปี พ.ศ.2552 (2009) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เห็นความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยในราคาที่เหมาะสมและหาซื้อได้ง่าย และลดอุปสรรคทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้คนรู้สึกอาย หรือไม่สะดวกที่จะใช้ถุงยางอนามัย

13 เรื่องถุงยางอนามัย ที่คุณต้องแปลกใจ

1.คำว่า Condom (ถุงยางอนามัย) มีที่มาอย่างไร

คำว่า "Condom" ปรากฏครั้งแรกในบันทึกของนายแพทย์ Daniel Turner และคำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในปี ค.ศ. 1785 เป็นต้นมา เพราะมีการบรรจุคำนี้ลงในพจนานุกรรมภาษาถิ่นของลอนดอน โดยคำว่า condom มีที่มาจาก 2 ทฤษฎี ทฤษฎีแรกคือมาจากชื่อสกุลของนายแพทย์ Colonel Condom นายแพทย์ที่สร้างถุงคุมกำเนิดให้กับพระเจ้าชาร์ลที่ 2 และอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่ามาจากคำว่า “Condus” ในภาษาลาตินที่มีความหมายว่าภาชนะรองรับ (Vessel)

2.ถุงยางอนามัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ถุงยางอนามัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ค้นพบจนถึงปัจจุบัน จากการขุดค้นทางโบราณคดีในเมือง Lund ทางตอนใต้ของสวีเดน พบถุงยางอนามัยที่ทำจาก 'ไส้หมู' ถือเป็นตัวอย่างถุงยางอนามัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ ตามคู่มือการใช้ถุงยาง ยังระบุให้นำกลับมาใช้ใหม่หลังการแช่นมที่ยังไม่ได้ต้มเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง ปัจจุบัน ถุงยางอนามัยดังกล่าวถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Tirolean County ที่ประเทศออสเตรีย

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ที่บ่งชี้ถึงการใช้ถุงยางอนามัยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ภาพวาดในถ้ำที่แสดงให้เห็นการใช้ถุงยางอนามัย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการใช้ถุงยางอนามัยที่ทำจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ผ้าลินิน หนังแกะ และลำไส้ของสัตว์

อย่างไรก็ตาม ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เริ่มมีการผลิตขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

3.ในยุคหนึ่งถุงยางอนามัยมีจำหน่ายสำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้น

ไม่ใช่ทุกคนที่จะซื้อถุงยางอนามัยได้ ในยุคศตวรรษที่ 18 ของสหราชอาณาจักร ถุงยางอนามัยมีจำหน่ายเฉพาะชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีราคาแพง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชนชั้นล่างขาดการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ สำหรับผู้ขายบริการทางเพศในสมัยนั้น ค่าถุงยางอนามัยอาจเทียบเท่ากับการทำงาน 3 เดือน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน สำหรับผู้ที่มีเงินทุน ถุงยางอนามัยจะถูกขายที่ผับ ร้านตัดผม ร้านขายเคมีภัณฑ์ ตลาดกลางแจ้ง และที่โรงละคร

4.ถุงยางอนามัยเริ่มมีการโฆษณาครั้งแรกทางทีวีเมื่อไม่นานมานี้

โฆษณาถุงยางอนามัยทางโทรทัศน์ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1975 โดยบริษัทถุงยางอนามัยชื่อ โทรจัน (Trojan) โดยพวกเขาขึ้นข้อความว่า "คำเตือน - ถึงเวลาแล้วและสนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัยในการวางแผนครอบครัว" ซึ่งหลายคนยังเคยเห็นถุงยางโทรจันปรากฏอยู่ในซีรีส์ดังของ HBO อย่าง Sex and the City ซึ่ง แครี่ แบรดชอว์ ตัวเอกของเรื่องได้นำถุงยางไปหย่อนไว้ตามตู้ต่างๆ ในนิวยอร์ก

5.ทหารใช้ถุงยางอนามัยคลุมกระบอกปืน

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารที่ไปออกรบจะได้รับแจกถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่มีทหารบางส่วนไม่ได้นำมาใช้สำหรับเรื่องนั้น แต่พวกเขานำมาคลุมปลายกระบอกปืนไรเฟิลอาวุธคู่ใจ ซึ่งด้วยคุณสมบัติกันน้ำและยืดหยุ่นได้ ทำให้ช่วยป้องกันการเกิดสนิมและสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในกระบอกปืนได้

6.ถุงยางอนามัยจุของเหลวได้มากกว่าที่คิด

ถุงยางอนามัย 1 ชิ้นสามารถบรรจุของเหลวได้มากถึง 4 ลิตรก่อนจะแตก ซึ่งถือว่าทนทานมาก! แต่เคล็ดลับสำคัญคืออย่าใช้ถุงยางอนามัย 2 ชิ้นพร้อมกัน เพราะการสวมถุงยางอนามัย 2 ชิ้นอาจทำให้เกิดการเสียดสี เสี่ยงต่อการฉีกขาดมากขึ้น

7.ไม่มีใครใหญ่ไปกว่าถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยสามารถยืดได้ประมาณ 18 นิ้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าอวัยวะเพศของคุณจะถูกบีบรัดจนขาดการไหลเวียนของโลหิต ส่วนความเชื่อที่ว่าผู้ชายบางคนไม่สามารถใช้มันได้เนื่องจากขนาดใหญ่เกินไปนั้นถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก

8.ผู้หญิงซื้อถุงยางอนามัยถึง 40 เปอร์เซ็นต์

ผลสำรวจพบว่า ไม่ใช่แค่ผู้ชายที่ควรรับผิดชอบในการซื้อถุงยางอนามัยเท่านั้น แต่มีผู้หญิงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นฝ่ายซื้อถุงยางอนามัยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ สะท้อนถึงแนวทางเชิงรุกด้านสุขภาพทางเพศสำหรับตนเองและคู่ครองในยุคนี้เป็นอย่างดี

9.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีการแจกถุงยางอนามัยให้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เริ่มมีการแจกถุงยางอนามัยครั้งแรกในโอลิมปิกที่โซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 1988 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในช่วงนั้น โดย ริโอ เกมส์ 2016 ประเทศบราซิล ครองสถิติมีการแจกถุงยางอนามัยมากที่สุด 450,000 ชิ้น หรือคิดเป็น 42 ชิ้นต่อนักกีฬาโอลิมปิกหนึ่งคนเลยทีเดียว

ย้อนสถิติการแจกถุงยางอนามัยในโอลิมปิกฤดูร้อน 10 ครั้งหลังสุด

• 1988 โซล เกาหลีใต้ 8,500 ชิ้น

• 1992 บาร์เซโลนา สเปน 50,000 ชิ้น

• 1996 แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา 15,000 ชิ้น

• 2000 ซิดนีย์ ออสเตรเลีย 90,000 ชิ้น

• 2004 เอเธนส์ กรีซ 130,000 ชิ้น

• 2008 ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 100,000 ชิ้น

• 2012 ลอนดอน อังกฤษ 150,000 ชิ้น

• 2016 ริโอเดจาเนโร บราซิล 450,000 ชิ้น

• 2021 โตเกียว ญี่ปุ่น 160,000 ชิ้น

• 2024 ปารีส ฝรั่งเศส 300,000 ชิ้น

10.ถุงยางอนามัยในภาษาเดนมาร์ค มีชื่อยาวมาก

ชาวเดนมาร์กเรียกถุงยางว่า SVANGERSKABSFOREBYGGENDEMIDDEL เราแทบจะไม่สามารถออกเสียงมันได้ แถมยังสะกดแบบยาวเหยียด แต่ผู้คนนิยมเรียกมันแบบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "จิมส์"

11.ถุงยางอนามัยชื่อดังของไทย ให้หมอนวดช่วยทำการสำรวจ

ดร.มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย เจ้าของผลิตภัณฑ์ ถุงยางมีชัย ถุงยางที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เผยว่าในช่วงที่เริ่มต้นการทำถุงยางอนามัย ชาวบ้านบอกว่าถุงยางของฝรั่งมันใหญ่เกินไป จึงต้องทำการหา "ขนาด" ที่เหมาะสมสำหรับคนไทย แต่ครั้นจะไปขอวัดขนาดผู้คนก็คงจะทำไม่ได้ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์ และโรงนวดเจ้าพระยา ให้พนักงานนวดทำการวัดขนาดอวัยวะเพศของลูกค้า โดยวัดทั้งในขณะอวัยวะเพศตื่นตัวและไม่ตื่นตัว และวัดวงรอบ ซึ่งผลเฉลี่ยออกมาที่ความยาว 5.4 นิ้ว วงรอบอยู่ที่ 49 มิลลิเมตร ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ทำแบบนี้ ก่อนที่ประเทศอื่นในเอเชียจะนำผลสำรวจไปทำตามจนออกมาเป็นขนาดมาตรฐานของหนุ่มเอเชีย (Asian Size) ในปัจจุบัน

ด้วยผลงานที่ประจักษ์ทำให้ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ยกย่อง ดร.มีชัย วีระไวทยะ ว่าเป็น ราชาแห่งถุงยางอนามัย (The Condom King) เพราะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยหลายล้านคน รู้จักวางแผนครอบครัว ป้องกันโรคเอดส์ ทำลายกำแพงวัฒนธรรมเรื่องเพศที่ปลอดภัย

12.ถุงยางอนามัยช่วยเซฟคนจาก HIV นับร้อยล้านคน

องค์การอนามัยโลก เผยว่า ตั้งแต่ปี 1990 ประชากรทั่วโลกมีการใช้ถุงยางอนามัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ HIV รายใหม่ได้ประมาณ 117 ล้านราย โดยในปี 2020 มีการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ซิฟิลิส หนองในเทียม หนองใน และ โรคพยาธิในช่องคลอด ถึง 374 ล้านรายทั่วโลก นอกจากนี้ ในแต่ละปีคาดว่ามีการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือท้องไม่พร้อมมากกว่า 300 ล้านครั้ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย

13.น่าเป็นห่วง! วัยรุ่น Gen Z ใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยผลสำรวจกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 ปี กว่า 242,000 คนใน 42 ประเทศ ระหว่างปี 2014-2022 พบว่า วัยรุ่นชายราว 20 เปอร์เซ็นต์ และวัยรุ่นหญิง 15 เปอร์เซ็นต์ มีประสบการณ์ทางเพศแล้ว

เด็กวัยรุ่นเริ่มมีกิจกรรมทางเพศในวัย 15 ปี และใช้ถุงยางอนามัยลดลงเรื่อยๆ โดยวัยรุ่นชายใช้ถุงยาง 61% ลดลงจาก 70% ในปี 2014 ส่วนวัยรุ่นหญิงใช้ถุงยาง 57% ลดลงจากเดิมที่เคยใช้ 63% และ 30 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มตัวอย่างระบุในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดไม่ได้ใช้ทั้งถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด โดยวัยรุ่นหญิงประเทศแอลเบเนียมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำที่สุดคือ 24% ส่วนวัยรุ่นชายที่ใช้ถุงยางน้อยที่สุดคือ ประเทศสวีเดน อยู่ที่ 20%

องค์การอนามัยโลก กังวลว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอาจนำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม การทำแท้งไม่ปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น การศึกษาเรื่องเพศยังคงถูกมองข้ามในหลายประเทศ เพราะการเรียนวิชาเพศศึกษาถูกมองว่าจะไปส่งเสริมกิจกรรมเพศ แต่สิ่งสำคัญที่หลายคนมองข้ามคือ การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเยาวชนในเวลาที่เหมาะสมจะช่วยปกป้องพวกเขาจากโรคเพศสัมพันธ์ และมีพฤติกรรมทางเพศที่ถูกสุขอนามัย และปลอดภัย

Advertisement

แชร์
13 ก.พ. วันถุงยางอนามัยสากล เผย 13 เรื่องถุงยางอนามัย ที่คุณต้องแปลกใจ