Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่อันตรายและเรื่องใหญ่กว่าที่คิด

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่อันตรายและเรื่องใหญ่กว่าที่คิด

5 เม.ย. 67
22:11 น.
|
1.8K
แชร์

รู้จัก ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่อันตรายและเรื่องใหญ่กว่าที่คิด มีอาการ และวิธีรักษา อย่างไรบ้าง

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่กระดูกสันหลังระดับบนเคลื่อนตัวไปข้างหน้า เมื่อเทียบกับกระดูกสันหลังระดับล่าง มักพบมากในกระดูกสันหลังระดับเอว และมักเกิดในวัยกลางคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนนั้นสามารถก่อให้เกิดการจำกัดการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เช่น การเดินระยะทางไกลไม่ได้เท่าเดิม มีการเซ หรือล้มได้ง่าย เป็นต้น

ประเภทของภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ

• ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด
• ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนโดยที่มีการหักของกระดูก
• ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากความเสื่อม โดยที่ไม่มีการหักของกระดูก มักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
• ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังโดยตรง เช่น ล้มหลังกระแทก
• ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากโรคบางชนิด เช่น การลุกลามของมะเร็งหรือเนื้องอก โรคกระดูกพรุน เป็นต้น
• ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนภายหลังจากการผ่าตัด

สาเหตุของภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากความเสื่อม

ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากความเสื่อมอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้ดังนี้

• การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง
• ข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลังอักเสบ
• มีปัญหาของเส้นเอ็นกระดูกบริเวณกระดูกสันหลัง
• ขาดความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว

back-pain-6949392_1280

การตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

การวินิจฉัยภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้

• ฟิล์มเอ็กซเรย์ โดยมักตรวจในท่ายืน และจะเห็นได้ชัดในมุมทางด้านข้าง หรืออาจตรวจด้วยการให้ผู้ป่วยก้มหลังและแอ่นหลังขณะทำการถ่ายฟิล์มเอ็กซเรย์ เพื่อดูว่ามีการเคลื่อนของกระดูกขณะเคลื่อนไหวหรือไม่
• MRI มักจะทำในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทร่วมด้วย
• CT ซึ่งในทางกายภาพบำบัดนั้นสามารถตรวจได้ด้วยการดูการเคลื่อนไหวและการทดสอบต่างๆ ที่ต้องอาศัยการประเมินจากนักกายภาพบำบัด หรือ การทดสอบที่สามารถทดสอบเองได้ เช่น ลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง เป็นระยะเวลา 2-3 นาที ผลการทดสอบจะเป็นบวกก็ต่อเมื่อ ตอนแรกไม่มีอาการปวด กลายเป็นมีอาการปวด หรือ หากมีอาการปวดอยู่แล้วอาการปวดจะเพิ่มขึ้น เป็นต้น

อาการของภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

• ปวดหลังส่วนล่าง (local pain)
• ปวดหลังส่วนล่างขณะมีการเคลื่อนไหวของหลัง เช่น ลุกขึ้นจากท่านั่ง หรือ ก้มหลัง-แอ่นหลัง
• ปวดร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างขึ้นกับความรุนแรง
• หากมีการรบกวนของเส้นประสาทร่วมด้วย อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา อาการชา หรือการรับความรู้สึกลดลงได้
• หากมีการรบกวนของเส้นประสาทไขสันหลังร่วมด้วย อาจทำให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้อย่างปกติ
• เกิดการจำกัดการใช้ชีวิตประจำวัน หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
• เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูกสันหลัง เช่น หลังแอ่นมากกว่าปกติ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

• อายุ เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสที่จะมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากความเสื่อมได้ถึง 15 %
• เพศ เพศหญิงมีโอกาสที่จะมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนได้มากถึง 50 % เมื่อเทียบกับเพศชาย
• ฮอร์โมน ในเพศหญิงจะได้รับผลจากฮอร์โมน ซึ่งทำให้เส้นเอ็นกระดูกบริเวณกระดูกสันหลังไม่แข็งแรงมากกว่า โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือนที่มีผลต่อการผลิตฮอร์โมนบางชนิด
• กิจกรรมในชีวิตประจำวัน มีการศึกษาพบว่าหากในชีวิตประจำวันมีการขับรถมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน หรือกลุ่มคนที่มีการเดินขึ้น-ลงบันได หรือทางชันบ่อย มีผลให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากความเสื่อมได้มากกว่า

woman-8303785_1280

การรักษาภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน

วิธีรักษาภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน แพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุที่วินิจฉัยพบในคนไข้แต่ละราย และเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 วิธีคือ ได้แก่

การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบไม่ผ่าตัด

ส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มผู้สูงวัยที่กระดูกสันหลังเคลื่อนอันเนื่องมาจากความเสื่อมของตัวกระดูกสันหลัง ซึ่งมักจะมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขาอันเกิดจากการที่กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยแนวทางการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ทำได้ ดังนี้

• ปรับพฤติกรรม ให้คนไข้ได้พักการใช้งานหลัง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย เช่น ยกของหนัก
• ให้ยาเพื่อลดอาการปวด
• ทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด
• ใช้อุปกรณ์ซัพพอร์ตหลัง ใส่ให้กับคนไข้ จะสามารถช่วยลดอาการปวดได้
• ฉีดยาบริเวณโพรงไขสันหลัง ซึ่งยาที่ใช้จะเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ ก็จะช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน

การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนแบบผ่าตัด

การผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนนั้น แพทย์จะพิจารณาจากอาการของตัวโรคเป็นสำคัญว่าเหมาะกับวิธีการผ่าตัดแบบใด แต่จะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดก็ต่อเมื่อรักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่หาย คนไข้ยังมีอาการปวดหลังอยู่มาก มีอาการปวดจากการกดเบียดทับเส้นประสาทอยู่จนรบกวนการใช้ชีวิต โดยวิธีการผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนจะแบ่งได้หลักๆ ออกเป็น 2 ประเภท คือ

• ผ่าตัดขยายโพรงเส้นประสาทกระดูกสันหลังที่ถูกกดทับ ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดไม่มาก แต่มีอาการปวดร้าวลงขา หรือชาอ่อนแรงอันเกิดจากกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยสามารถผ่าตัดได้ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิด หรือผ่าตัดส่องกล้อง

• ผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดหลังมาก ร่วมกับมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดขยายโพรงเส้นประสาท ร่วมกับผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง โดยจะใส่โลหะดามกระดูกสันหลังบริเวณที่มีปัญหา

Advertisement

แชร์
ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่อันตรายและเรื่องใหญ่กว่าที่คิด