Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดปัจจัยเสี่ยงแห่งอนาคต สุขภาพจิตคนไทยในระยะ 10 ปี เผยตัวช่วยเติมความสมดุล

เปิดปัจจัยเสี่ยงแห่งอนาคต สุขภาพจิตคนไทยในระยะ 10 ปี เผยตัวช่วยเติมความสมดุล

24 เม.ย. 67
13:04 น.
|
313
แชร์

เอ็นไอเอเปิดปัจจัยเสี่ยงแห่งอนาคต “สุขภาพจิตคนไทยในระยะ 10 ปี” พร้อมเผยสัญญาณนวัตกรรมสุดล้ำช่วยเติมความสมดุล “เมนทอลเฮลธ์”หนุน 3 แอปฯ ฝีมือนวัตกรไทยช่วยคนไทยมีที่ปรึกษาทางใจมากขึ้น 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูลจากการคาดการณ์อนาคตร่วมกับกรมสุขภาพจิต ETDA และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ มีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาวะสุขภาพจิตสังคมไทย ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของวิถีชีวิตคนเมือง การแพร่ระบาดของข่าวปลอม อาชญากรรมและความรุนแรง และสัญญาณล่มสลายจากภัยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบเชิงบวก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือและบรรเทาสุขภาพจิตที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ได้แก่

  1. ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการดูแลจิตใจ
  2. การเพิ่มขึ้นของนวัตกรรมโลกเสมือนเพื่อเพิ่มประสบการณ์ดูแลสุขภาพจิต
  3. การออกแบบนโยบายรัฐในด้านสุขภาพจิต
  4. เศรษฐกิจจากความหลงใหลที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
  5. พื้นที่ปลอดภัยสำหรับจิตใจของเหยื่อ
  6. การดูแลสุขภาพจิตแบบผสมผสาน
  7. สุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน รวมถึงยังโชว์ตัวอย่างนวัตกรรมที่จะช่วยรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น HD: แพลตฟอร์มตัวช่วยด้านสุขภาพแบบครบครัน เว็บแอปพลิเคชันทัวร์ราปี้ (TOURAPY): แพลตฟอร์มช่วยออกกแบบการท่องเที่ยวทางด้านสุขภาพใจให้กับคนวัยทำงาน และแพลตฟอร์มนักจิตวิทยา AI เพื่อการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตด้วยเสียงมนุษย์สังเคราะห์ เป็นต้น

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ร่วมกับกรมสุขภาพจิต ETDA และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC คาดการณ์อนาคตเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สุขภาพจิตและสุขภาวะของคนไทยแย่ลง เห็นได้จากตัวเลขผู้ป่วยทางจิตจากเดิมในปี 2558 ที่มีผู้ป่วยจิตเวช 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 

และหากเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกจะพบว่า มีกลุ่มที่ควรเฝ้าระวังทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุกว่า 8 แสนคนอยู่ในภาวะความจำเสื่อม และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90 กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต วัยรุ่นอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่คาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ป่วยถึง 1.5 ล้านคน แต่มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มงานจิตเวชที่มีภาวะหมดไฟ จากปี 2563 ที่มีจำนวนร้อยละ 2.7 ขยับเป็นร้อยละ 12.2 ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว ในช่วงระหว่าง 10 ปีนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทยต้องพึงระวังเพื่อรับมือ - ออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ต่อการดูแลสุขภาพจิตในอนาคต คือ 

  1. วิถีชีวิตคนเมือง ซึ่งการขยายตัวของเมืองจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจและส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดี 
  2. การแพร่ระบาดของข่าวปลอม ทำให้ผู้รับข้อมูลเกิดความสับสน เข้าใจผิด จนนำไปสู่ความกังวล ความเครียด และความไม่เชื่อใจ 
  3. อาชญากรรมและความรุนแรง ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบและทำให้คนในสังคมเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย 
  4. สัญญาณล่มสลายจากภัยธรรมชาติ ที่ผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศที่รุนแรงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต อัตราการเสียชีวิต และทำให้เกิดแนวโน้มที่แต่ละหน่วยงานจะมีการพัฒนาแผนการดูแลสุขภาพจิตร่วมกับแผนการรับมือภัยพิบัติ แต่แม้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น แต่ก็มีปรากฏให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรับมือและบรรเทาสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ 
  • ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการดูแลจิตใจ (AI Mindfullness) ซึ่งสามารถทำงานจัดเก็บข้อมูที่มีอยู่มหาศาลได้ตลอดเวลา ช่วยลดภาระทางการแพทย์ 
  • การเพิ่มขึ้นของนวัตกรรมโลกเสมือนเพื่อเพิ่มประสบการณ์ดูแลสุขภาพจิต (Immersive Mental Healthcae Innovation) ที่จะมีการออกแบบโลกเสมือนทั้งมิติการจำลองประสาทสัมผัสทั้งห้า และสถานการณ์จริงที่ทำให้การบำบัดจิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  • สุขภาพจิตและนโยบายรัฐ (Mental Health in all Policies) ที่สวัสดิการการดูแลสุขภาพจิตจะเป็นไปอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และหลากหลายรูปแบบ ดังเช่นในอังกฤษมีมาตรการผ่อนชำระหนี้ให้กับผู้ป่วยจิตเวช เป็นต้น 
  • เศรษฐกิจจากความหลงใหล (Passion Economy) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และทำให้ความชอบของแต่ละบุคคลสามารถผสานกับอาชีพ ส่งผลให้มีความสุขกับการทำงานเพิ่มขึ้น 
  • พื้นที่ปลอดภัยสำหรับจิตใจของเหยื่อ (Safe Space for Mental Health Victim) ที่ทำให้การเยียวยาผู้ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น 
  • การดูแลสุขภาพจิตแบบผสมผสาน (Hybrid Mental Healthcare Model) เพื่อให้การรักษาทั้งในสถานที่จริงและแบบทางไกลมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน และเกิดทางเลือกในการรักษามากขึ้น
  • สุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน (workplace Wellness) ที่การจ้างงานจะให้คุณค่ากับการใช้ชีวิต การออกแบบสวัสดิการในองค์กรที่ทำให้การทำงานมีความสุขและเกิดผลพวงในการลดค่าใช้จ่ายทางด้านร่างกาย”


ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมด้านการบริการสุขภาพจิตกําลังเข้ามามีบทบาทในการแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และยังช่วยยกระดับประสิทธิภาพการบริการ ช่วยให้ผู้ป่วยสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน NIA ได้สนับสนุนสตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรมให้มีการพัฒนาโซลูชันช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิต และกิจกรรมไลฟ์สไตล์ที่ช่วยให้ผู้คนมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาหาแนวทางเพื่อบำบัดหรือป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นสามารถเข้าไปลองใช้ 3 แพลตฟอร์มบริการทางไกลซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก NIA ได้ เช่น  

  • HD แพลตฟอร์มตัวช่วยด้านสุขภาพแบบครบครัน : แพลตฟอร์มช่วยสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีให้แก่คนไทยด้วยบทความที่เขียนโดยทีมแพทย์มากกว่า 10,000 บทความ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีระบบช่วยเชื่อมคนกับสถานพยาบาลและบริการสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบตัวเลือกประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการที่เหมาะกับตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีระบบให้คำปรึกษาออนไลน์ที่สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทาง ใช้งานง่ายผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาโรงพยาบาลแออัด พร้อมทั้งบริการผ่อนจ่ายเพื่อทำให้การเงินไม่เป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษาสุขภาพ นับว่าเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยดูแลจัดการสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ในแพลตฟอร์มเดียว
  • เว็บแอปพลิเคชัน TOURAPY :  แพลตฟอร์มช่วยออกแบบการท่องเที่ยวทางด้านสุขภาพใจให้กับคนวัยทำงาน ตามแนวคิด Experience + Emotion + Exercise เป็นทริปท่องเที่ยวสั้น ๆ ที่แฝงไปด้วยคุณค่าเเห่งการตระหนักรู้ อยู่กับความเป็นจริงในโจทย์ของความสัมพันธ์ ทั้งโลกส่วนตัวและการงาน โดยมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์คอยให้คำปรึกษา สอนกระบวนการเรียนรู้ และชวนให้ผู้ท่องเที่ยวเข้าใจในปัญหาของตนเอง เพื่อให้สามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาด้วยการเลือกแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวและอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ นอกจากจะช่วยเยียวยาจิตใจนักท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วยเช่นกัน
  • แพลตฟอร์มนักจิตวิทยา AI เพื่อการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตด้วยเสียงมนุษย์สังเคราะห์ : ผู้ช่วยให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตแก่ผู้เข้ารับบริการที่ใช้ความสามารถของ AI เสียงสังเคราะห์ ที่อ้างอิงจากเสียงและรูปแบบการตอบของนักจิตวิทยา เพื่อให้เกิดโทนเสียงที่ดี มีความเห็นอก เห็นใจ และรูปประโยคที่เป็นธรรมชาติ เหมาะสมกับการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตมากที่สุด เข้ามาขยายขีดความสามารถและพัฒนาระบบการตอบคำถาม การให้คำปรึกษา ผ่านช่องทางการให้คำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน ตลอดจนช่วยลดภาระงานบางส่วนของนักจิตวิทยาได้มากขึ้น

อนาคตมีการคาดการณ์ว่าตลาดแอปพลิเคชันด้านสุขภาพจิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตขึ้นจาก 300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2563 เป็น 780 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2570 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยรายปีถึงร้อยละ 14 สำหรับประเทศไทยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับการดูแล การให้บริการด้านสุขภาพจิตและโรคจิตเวชเริ่มมีบทบาทเด่นชัดมากขึ้น เห็นได้จากการที่วิสาหกิจหรือสตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และสร้างนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพจิต ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของผู้รับบริการได้ดีขึ้น นําไปสู่การรักษาและการดูแลผู้รับบริการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

Advertisement

แชร์
เปิดปัจจัยเสี่ยงแห่งอนาคต สุขภาพจิตคนไทยในระยะ 10 ปี เผยตัวช่วยเติมความสมดุล