Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ท่องเที่ยวไทยกับการจัดการ "ขยะอาหาร" ก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืน

ท่องเที่ยวไทยกับการจัดการ "ขยะอาหาร" ก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืน

23 ก.พ. 68
05:00 น.
|
143
แชร์

ท่องเที่ยวไทยกับการจัดการปัญหา "ขยะอาหาร" ก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในแต่ละปีเรามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไปเยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ สร้างเม็ดเงินให้สะพัดในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน กล่าวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการ "กิน ดื่ม เที่ยว" ของนักท่องเที่ยวก็มากขึ้นเช่นกัน และก่อให้เกิดปัญหาขยะตามมาด้วย หากไม่สามารถบริหารจัดการปริมาณขยะให้มีประสิทธิทธิภาพที่ดีพอ ย่อมส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาได้ โดยเฉพาะปัญหาขยะอินทรีย์หรือขยะอาหารที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นขยะอาหารที่มาจากกลุ่มธุรกิจที่พักแรมและร้านอาหาร

ปัญหาขยะอาหารถือเป็นความท้าทายใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อโลกเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็น "ความยั่งยืน" มากขึ้น กอปรกับการลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2030 ทุกประเทศควรลดปริมาณขยะอาหารครึ่งหนึ่งของขยะที่เกิดจากห่วงโซ่อาหาร (Food chain) ตั้งแต่ภาคการเกษตร การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย และการบริโภค

จากรายงาน Food Waste Index Report 2024 United Nations Environment Programme ระบุว่า ทั่วทั้งโลกปล่อยทิ้งอาหารให้กลายเป็น "ขยะอาหาร" มากถึง 1,052 ล้านตันต่อปี หรือประชากรทั้งโลกมีการทิ้งอาหารให้เป็นขยะอาหารมากถึง 132 กิโลกรัมต่อคนต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยร้อยละ 19 ของปริมาณขยะอาหารที่ถูกทิ้งมาจากผู้บริโภคในกลุ่มครัวเรือนมากที่สุดคิดเป็นปริมาณเฉลี่ย 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี รองลงมาได้แก่ กลุ่มร้านที่ให้บริการอาหาร 36 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และร้านค้าปลีก 17 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

นอกจากนี้ จากข้อมูลการสำรวจปริมาณขยะอาหารโดยเฉลี่ยต่อคนต่อปีในกลุ่มครัวเรือนของ United Nations Environment Programme ปี 2022 พบว่า ครัวเรือนของประเทศไทยมีการทิ้งขยะอาหารต่อคนต่อปีมากเป็นอันอันดับ 2 ของประเทศอาเซียน โดยอันดับ 1 ได้แก่ สปป.ลาว สร้างขยะอาหารประมาณ 89 กิโลกรัมต่อคนต่อปี รองลงมาได้แก่ ผู้บริโภคในครัวเรือนของไทยสร้างขยะอาหาร 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และกัมพูชาสร้างขยะอาหาร 85 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารในปี 2565 ประมาณ 9.7 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 38.76 ของปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศ ซึ่งขยะอาหารเหล่านี้เกิดจากการทิ้งอาหารของผู้บริโภคในประเทศโดยเฉลี่ย 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยมาจากครัวเรือนประมาณร้อยละ 60 จากร้านที่ให้บริการอาหารร้อยละ 28 และจากร้านค้าปลีกร้อยละ 12 ดังนั้นโจทย์สำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ ต้องลดปริมาณขยะอาหารอันเกิดจากการบริโภคของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น

“อันธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ”

การต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากการจัดเตรียมสถานที่พักผ่อนให้สวย สะอาด งามตาแล้ว การจัดเตรียมอาหารให้มีความหลากหลายเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน การเตรียมอาหารแบบ "เหลือดีกว่าขาด" จึงเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือและปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน โรงแรมและร้านอาหารส่วนมากจึงมักจัดเตรียมวัตถุดิบ อาทิ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมากไว้ เพื่อเตรียมประกอบอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ใดที่จะทำให้เกิดอาหารส่วนเกินจนกลายเป็นขยะอาหารในที่สุด

จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD)ปี 2567 พบจำนวนโรงแรงแรม รีสอร์ท ห้องชุดและเกสต์เฮ้าส์ มีจำนวนมากถึง 12,453 แห่ง และจำนวนภัตตาคารและร้านอาหารอีกอย่างน้อยจำนวน 23,561 แห่ง หากผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่เกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาของขยะอาหารและปล่อยให้เป็นหน้าที่ในการบริการจัดการของภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลต่อ "ปัญหาขยะล้นเมือง" จนไม่สามารถจัดการได้

ทั้งนี้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization of United Nation : UN FAO) ได้จัดทำแนวทางสำหรับรัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่น ธุรกิจ และองค์งค์กรอื่น ๆ เพื่อป้องกันและลดขขยะอาหารและเครื่องดื่มในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ตามลำดับความสำคัญของการก่อให้เกิดขยขะอาหาร 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.การป้องกัน (Prevention) ด้วยการวางแผนการซื้อวัตถุดิบให้พอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป รวมถึงการวางแผนการใช้วัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss)

2. การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Re-use หรือ Optimization) คือ การป้องกันการเกิดอาหารส่วนเกินเหลือทิ้งโดยไม่จำเป็น ด้วยการนำอาหารส่วนเกินส่งต่อ (Redistribution) ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังไม่หมดอายุและสามารถบริโภคได้ให้กับผู้มีความต้องการ หรือการนำอาหารส่วนเกินที่คนอาจจะไม่สามารถบริโภคต่อได้แล้วนำไปเป็นอาหารสัตว์

3. การรีไซเคิล (Recycle) ด้วยการนำขยะอาหารไปเข้ากระบวนการผลิตเพื่อให้มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น การนำขยะอาหารไปผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ผ่านกระบวนการหมักย่อย รวมไปถึงการนำขยะอาหารไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการเกษตร

4. การแปลงสภาพให้เป็นพลังงานความร้อน (Recovery) ด้วยการนำขยะอาหารที่มีความชื้นต่ำมาเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานความร้อน

5. การกำจัด (Disposal) คือ การนำขยะอาหารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้วไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเผา การฝังกลบ และการทิ้งร่วมกับน้ำเสียเพื่อการบำบัด

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการเพื่อลดขยะอาหารในกลุ่มธุรกิจโรงแรมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหลายแห่ง เริ่มตระหนักรู้และเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปีแล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีโรงแรมที่ได้รับการรับรองว่าเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotel จำนวน 306 แห่งหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของจำนวนโรงแรม รีสอร์ท ห้องพัก และเกสต์เฮาส์ที่มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กลุ่มโรงแรม Green hotel เหล่านี้ไม่เพียงแต่บริหารจัดการเพื่อลดขยะอาหารเท่านั้น แต่ยังดำเนินการเพื่อดขยะทุกประเภทตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการลดปริมาณขยะแต่ละประเภท การแยกขยะเพื่อจัดการแต่ละประเภทให้ถูกวิธี เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องส่งต่อขยะไปยังเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลให้น้อยที่สุด หรือเป็นการลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบให้น้อยที่สุด

สำหรับการลดปริมาณขยะอาหารของโรงแรงแรมในกลุ่ม Green Hotel พบว่า โรงแรมแต่ละแห่งจะวางแผนการให้บริการอาหารเช้าแก่ลูกค้าตามจำนวนของลูกค้าที่เข้ามาพัก ตั้งแต่การวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารให้พอดีกับจำนวนลูกค้า เช่น โรงแรมขนาดเล็กจะไม่เปิดให้บริการอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ เนื่องจากจำนวนผู้เข้าพักไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะจัดให้บริการอาหารในปริมาณซึ่งก่อให้เกิดอาหารส่วนเกินและอาจเหลือทิ้งเป็นขยะอาหาร

ขณะที่โรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมีการวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อให้บริการอาหารเช้าแก่ลูกค้าที่เข้าพักเช่นกัน กล่าวคือ หากมีลูกค้าที่เข้าพักน้อยกว่า 30 ห้อง โรงแรมจะไม่เปิดให้บริการอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ แต่หากมีอัตราการเข้าพักที่มากกว่า 30 - 50 ห้อง โรงแรมจึงจะเปิดให้บริการอาหารเช้าแบบบุฟเฟต์ และหากมีอาหารส่วนเกินเหลือจากอาหารเช้าของลูกค้า โรงแรมบางแห่งอาจจะจัดสรรอาหารเหล่านั้นให้เป็นอาหารของพนักงานในมื้อถัดไป ขณะที่โรงแรมอีกบางแห่งจะส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังโรงเรียนหรือชุมชนที่ต้องการอาหาร โดยจะมีการคัดเลือกเฉพาะอาหารที่มีคุณภาพดี ไม่เสี่ยงต่อการบูดเน่า เช่น ขนมปัง อาหารปรุงสุกบางประเภท เป็นต้น

ทั้งนี้ การบริจาคอาหารที่สามารถรับประทานต่อได้เหล่านี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน และเชียงใหม่ จะมีมูลนิธิ SOS ซึ่งเป็นมูลนิธิกู้ภัยอาหาร หรือ Food Rescue มารับอาหารจากโรงแรมหรือร้านอาหารเพื่อนำไปส่งต่อให้กับสถานที่แต่ละแห่ง ขณะที่การบริจาคอาหารส่วนเกินในพื้นที่อื่น ๆ ส่วนมากแล้ว ต้องมีเจ้าหน้าที่จากโรงเรียนหรือชุมชนมารับอาหารด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอาหารไปยังสถานที่ต่าง ๆ อย่างมาก

นับว่าผู้ประกอบการด้านที่พักในประเทศไทยเริ่มขยับตัวในการนำพาธุรกิจที่คำนึงถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะอาหาร ซึ่งหากประชาชนทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ก็จะช่วยลดปริมาณขยะอาหาร และลดการบริโภคและใช้ทรัพยากรเพื่อให้โลกของเราไปสู่ความยั่งยืน

Advertisement

แชร์
ท่องเที่ยวไทยกับการจัดการ "ขยะอาหาร" ก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืน