กิมจิ เมนูหมักดองชื่อดัง หนึ่งในเมนูที่คออาหารเกาหลีชื่นชอบ การบริโภคเมนูเหล่านี้ อาจเป็นต้นเหตุของอาการ "อาหารเป็นพิษ" ขั้นร้ายแรงอาจติดเชื้อ โนโรไวรัส ?
เมนูเกาหลี กลายเป็นอีกหนึ่งการทานอาหารที่ชาวไทยชื่นชอบ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมนูปิ้งย่างหลายร้าน ต้องเต็มไปด้วยเครื่องเคียงแบบครบครันตามที่ได้เห็นในซีรีส์ และอีกหนึ่งเครื่องเคียงอย่าง กิมจิ กลายเป็นตัววัดมาตรฐานไปเลยว่าร้านนี้อาหารอร่อยหรือไม่ เพราะยอดนักชิมอาหารเกาหลีหลายคนถึงกับเอ่ยปากว่า กิมจิที่อร่อยจะเป็นตัวช่วยให้เมนูในร้านยิ่งได้รับความนิยม
กิมจิ เป็นหนึ่งในเครื่องเคียงที่ถูกวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน นอกจากภายในประเทศเกาหลีใต้แล้ว คนไทยก็นิยมเช่นเดียวกัน สังเกตได้จากการผลิตขายภายในร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ปัจจุบันการใช้วัตถุดิบในการทำกิมจิมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีเพียงผักกาดขาวเท่านั้น แต่ยังมีทั้งหัวผักกาด กระเทียม พริกแดง หัวหอมใหญ่ แตงกว่า ปลาหมึก กุ้ง หอยนางรม
เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว จะแบ่งรสนิยมออกอย่างชัดเจน คนที่ชื่นชอบและตามหากิมจิรสเลิศ อาจจะรู้สึกอยากไปหาแหล่งซื้อมาตุนเก็บไว้ทาน แต่คนที่ไม่ชอบก็อาจจะเบนสายเป็นการไม่แตะไปอีกเลย แต่ทั้งนี้การกินกิมจิก็ยังมีข้อดีอยู่ เพราะช่วยในแง่ของการเพิ่มแบคทีเรียดีให้กับลำใส้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร รวมถึงช่วยกระตุ้นความอยากอาหารด้วย แต่การทานเป็นจำนวนมากก็ยังมีข้อที่ควรระวังเช่นกัน
กินกิมจิมากไป อาจเสี่ยงติดเชื้อโนโรไวรัส
ก่อนหน้านี้มีการรายงานข่าวของเกาหลีใต้ โดยได้ระบุว่า พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินกิมจิสูงถึง 1,024 ราย ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียน จากครั้งแรกตรวจพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษเพียง 153 ราย ก่อนที่จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 745 ราย และสรุปที่มีผู้ป่วยจากอาการดังกล่าวทั้งสิ้น 1,024 ราย
จากการรายงานพบว่า ผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงกันคือ มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ร่วมกับอาการปวดท้อง จึงได้มีการเริ่มสอบสวนทางระบาดวิทยา เพื่อค้นหาแหล่งที่มาของโรคทันที ซึ่งได้คำตอบว่าพบเชื้อโนโรไวรัสจากสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย พร้อมกับพบการปนเปื้อนในกิมจิบางส่วนที่ส่งไปยังโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยจึงได้มีการระงับการผลิตและจำหน่าย เพื่อตรวจหาโรคต่อไป
โนโรไวรัส ติดเชื้อแล้วอาจท้องเสียรุนแรงจนเกิดภาวะขาดน้ำ
เชื้อโนโรไวรัส สามารถติดต่อกันได้ง่าย มักพบการระบาดในช่วงอากาศเย็น สามารถป่วยได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หลังได้รับเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย อาจมีไข้ อาเจียน ปวดท้อง เวียนศีรษะร่วมด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอาการท้องเสียรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อก อาจเสียชีวิตจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ ทั้งนี้คนส่วนใหญ่จะหายได้ภายในไม่กี่วัน โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
กรมควบคุมโรค แนะวิธีเลือกซื้อกิมจิบริโภคอย่างปลอดภัย
กรมควบคุมโรค ประเทศไทยได้ระบุถึงข่าวการติดเชื้อโนโรไวรัส ที่ประเทศเกาหลีเพิ่มเติมอีกว่า "ในปัจจุบันยังไม่พบการรายงานอาหารเป็นพิษหรือติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน" พร้อมทั้งแนะนำว่าควรระมัดระวังในการทานของหมักของดอง และอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หากต้องการทานกิมจิและเป็นการหาซื้อด้วยตนเอง ควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดไปจากเดิม
หากผู้ที่ทานกิมจิไปแล้วมีอาการท้องเสียร่วมกับอาเจียน ควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำทดแทน พร้อมทั้งทานอาหารอ่อน หรืออาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป ไม่แนะนำให้กินยาหยุดถ่าย หรือยาปฏิชีวนะ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปสถานพยาบาลทันที
ข้อควรระวังก่อนการทานกิมจิ
ต้องไม่ลืมว่ากิมจิเป็นหนึ่งในอาหารจำพวกหมักดอง มีการเติมเกลือเป็นส่วนผสมหลักและในปริมาณที่มาก มีโอกาสที่ทานไปแล้วจะรับรู้ถึงความเค็ม หากผู้ที่ทานป่วยเป็นโรคไต หรือมีความดันโลหิตสูง ควรเลี่ยงหรือทานในปริมาณที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีรสจัด อาทิ รสเผ็ดหรือเปรี้ยวที่โดดไปในทางใดทางหนึ่ง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร อาจมีการระคายเคืองได้ หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย หลังจากการทานไปแล้ว อาจเกิดการเสาะท้อง จนทำให้เข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติได้
กิมจิ ยังเป็นหนึ่งในเนูเคียงที่หลายคนชื่นชอบ ถึงแม้จะทานไปแล้วไม่ได้ติดเชื้อ หรือไม่ได้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ แต่การทานในปริมาณที่พอเหมาะพอควร เป็นแค่เครื่องเคียงหรือทานร่วมกับเมนูอื่น จะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์และสารอาหารอย่างครบถ้วน และไม่เกิดอาการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร ที่จะทำให้คุณหมดความเอ็นจอยกับมืออาหารดังกล่าว
ที่มา : กรมควบคุมโรค (thaihealth.or.th)
Advertisement