จอประสาทตาเสื่อม มองภาพบิดเบี้ยว สีผิดเพี้ยน เห็นจุดดำตรงกลางภาพ สัญญาณเตือน โรคจุดภาพชัดเสื่อม เสี่ยงสูญเสียการมองเห็น
โรคจุดภาพชัดเสื่อม คือภาวะที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น พบได้มากในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป สาเหตุจากจุดรับภาพตรงกลางของจอตาเสื่อม ซึ่งโรคจอตาเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อาการของจอตา ได้แก่ มองในที่สว่างไม่ชัด หรือแพ้แสง ปรับสายตาจากการมองเห็นในที่มืดมาที่สว่างไม่ค่อยได้ ตามัวมีจุดดำหรือเงาบังอยู่ตรงกลางภาพ เห็นสีผิดเพี้ยน แนะนำให้สังเกตความผิดปกติด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยการใช้แผ่นทดสอบจอตาส่วนกลางด้วยตารางตรวจจุดภาพชัดเช็คอาการจุดภาพชัดเสื่อม ถ้ามองเห็นภาพผิดปกติไป จะต้องพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจจอตาทันที
โรคจุดภาพชัดเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางของจอประสาทตา เกิดขึ้นได้เมื่อมีอายุมากขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญทำให้สูญเสียความสามารถการมองเห็นในผู้สูงอายุ มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาจพบได้ในผู้มีอายุน้อย ซึ่งมักพบในผู้ที่มีประวัติทางครอบครัวเป็นโรคนี้ โรคจุดภาพชัดเสื่อม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.โรคจุดภาพชัดเสื่อม แบบแห้ง พบได้ ร้อยละ 90 เกิดจากเซลล์รับแสงในจุดรับภาพเริ่มเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น เซลล์รับแสงในจุดรับภาพมีจำนวนน้อยลง การมองเห็นบริเวณกลางภาพแย่ลง ทำให้ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติ เมื่อต้องอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมระยะใกล้
2.โรคจุดภาพชัดเสื่อม แบบเปียก เกิดจากมีเส้นเลือดงอกผิดปกติใต้จอตาทำให้สูญเสียการมองเห็นที่รุนแรง ภาวะโรคจุดภาพชัดเสื่อมแบบเปียก จะมีน้ำหรือเลือดรั่วออกมาจากเส้นเลือดที่งอกผิดปกติได้
อาการเริ่มต้นของ โรคจุดภาพชัดเสื่อม
เบื้องต้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบมาปรึกษาจักษุแพทย์
• มองเห็นกรอบประตูมีลักษณะโค้งงอหรือเป็นระลอกคลื่น
• มองเห็นภาพไม่ชัด
• มีจุดดำ หรือจุดบอดบริเวณศูนย์กลางของภาพที่มองเห็น
• มีความลำบากในการอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องอาศัยรายละเอียด
• มีปัญหาในการสังเกตความแตกต่างของใบหน้าบุคคล
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคจุดภาพชัดเสื่อมนั้น ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การเผชิญแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต โรคหัวใจ ความดันสูง คอเลสเตอรอลในหลอดเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุราและพันธุกรรม สามารถทดสอบด้วยตนเองได้จากตารางแอมสเลอร์กริด มีทั้งเส้นแนวตั้งและแนวนอนโดยมีจุดอยู่ตรงกลางถ้ามองเห็นบางเส้นไม่ชัดหรือเส้นจางหายไป ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที
การรักษาอาจรักษาด้วยยา เลเซอร์ หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน การรักษาในปัจจุบันเป็นเพียงชะลอการสูญเสียสายตา แต่สามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม อาทิ แครอท ฟักทอง ผักใบเขียว เช่น คะน้า ปวยเล้ง ฯลฯ ควบคุมน้ำหนัก สวมแว่นกันแดด งดสูบบุหรี่ จอตาเสื่อมจะไม่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยการรักษาทันท่วงทีจะช่วยชะลอความรุ่นแรงของโรค และลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็น
Advertisement