Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ตำนาน นางนพมาศ จากพิธี "จองเปรียง" สมัยสุโขทัย สู่ประเพณี "ลอยกระทง"

ตำนาน นางนพมาศ จากพิธี "จองเปรียง" สมัยสุโขทัย สู่ประเพณี "ลอยกระทง"

12 พ.ย. 67
12:07 น.
|
1.7K
แชร์

เปิดตำนาน นางนพมาศ จากพิธี "จองเปรียง" สมัยสุโขทัย สู่ประเพณี "ลอยกระทง" ของไทยในปัจจุบัน

การพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมนเทียรบาลว่า "พิธีจองเปรียง" ลดชุดลอยโคม เป็นพิธีบูชาไฟถวายตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ฮินดูในสมัยอยุธยา เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าและพระแม่คงคา โดยจะจัดขึ้นในเดือนสิบสองของทุกปี พิธีนี้มี 2 กิจกรรมในคราวเดียวกัน คือ จองเปรียง หรือ ลดชุด โดย จอง มาจากคำเขมรว่า “จง” (อ่านว่า จอง) แปลว่า ผูก, โยง ซึ่งในที่นี้หมายถึง การดูแลประคับประคองให้มีแสงสว่าง เช่น เลี้ยงไฟไม่ให้ดับ เปรียง มาจากคำเขมรว่า “เปฺรง” (อ่านว่า เปรง) แปลว่า น้ำมัน

จองเปรียง จึงหมายถึง ดวงไฟตามประทีปสว่างไสวที่ได้จากการจุดไฟเผาน้ำมัน แล้วชักด้วยสายรอกยกโคมไฟขึ้นไปแขวนตามเสา ระเบียง ชายคา ส่วน ลดชุด หมายถึง ชุดดวงไฟที่ลดขนาดเล็กลง แล้วจัดวางเรียงเป็นแถว โดยจะวางเรียงไว้ที่ช่องที่เจาะไว้ตามผนังกำแพงเมือง หรือกำแพงวัง และจะมีการการลอยโคมในน้ำ โดยพระมหากษัตริย์เสด็จออกลอยพระประทีปในเวลากลางคืน และทอดพระเนตร การนักขัตฤกษ์ ส่วนพระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด็จในเรือพระที่นั่ง หรือเทียบได้กับ ลอยกระทง แบบในปัจจุบัน

ตำนาน นางนพมาศ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์

ทั้งนี้ เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นหนังสือที่เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย ผู้แต่งคือ นางนพมาศ หรือ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" แต่หนังสืออาจชำรุดเสียหาย และได้มีการแต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่คงเนื้อหาเดิมของโบราณ เพิ่งมีการชำระและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2457 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะแต่งในขึ้นสมัยรัชกาลที่ 2 – รัชกาลที่ 3 เนื่องจากเทียบสำนวนกับหนังสือสมัยสุโขทัยอย่าง "ไตรภูมิพระร่วง" เห็นชัดว่าหนังสือนางนพมาศใหม่กว่าอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักปราชญ์หลายคนเชื่อว่า น่าจะมีตัวฉบับเดิมที่เก่าแก่ แต่ต้นฉบับอาจชำรุดขาดไป จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์เท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ในหนังสือ นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้เขียนเอาไว้ถึงเรื่องของ นางนพมาศ เอาไว้ว่า นางกำเนิดในตระกูลพราหมณ์สูงศักดิ์ บริบูณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ บิดาชื่อ โชตรัตน์ ได้รับการแต่งตังยศเป็น พระศรีมโหสถ ส่วนมารดาชื่อ เรวดี ก่อนที่นางจะเกิดบิดาฝันว่าได้ชมแสงจันทร์อร่ามเรืองรอง เห็นดอกไม้ออกดอกผลิบานสวยงามส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วจึงรู้ได้ทันทีว่าจะได้ลูกสาว เมื่อเกิดมาจึงตั้งชื่อให้ว่า "นพมาศ"

บิดามารดาได้สั่งสอนอบรมวิชาความรู้หลายแขนง จนอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ นางก็มีชื่อเสียงลือนามว่าเป็น สตรีนักปราชญ์ ผู้เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ และทรัพย์สมบัติ จนไปถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระร่วง จนดำรัสรับสั่งให้เสนาบดีนำธิดาของพระศรีมโหสถมาไว้เป็นพระสนม นางเรวดีผู้เป็นมารดาจึงนำธิดาไปถวายตัวในวัง ตรงกับเช้าวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 10 ค่ำ จุลศักราช 6 ปีมะโรง ฉศก ซึ่งเป็นมหาสิทธิโชคฤกษ์ดี

เมื่อครั้นเข้าไปถวายตัวเป็นข้าบาทบงกช นางนพมาศก็ยึดถือขนบธรรมเนียมของนางในราชสำนักอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่เกียจคร้านในราชกิจราชการ ต้องมีความอุตสาหะและสม่ำเสมอ ประพฤติตนให้เป็นไปตามน้ำพระทัย ไม่เอาแต่ใจตัว ไม่ฝักใฝ่คนชั่ว ไม่นำความเท็จไปกล่าวบังคมทูล ไม่นำเอาความลับฝ่ายในไปเผยแพร่ข้างนอก มีใจสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

จนกระทั่งมาถึงช่วงพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษต่างทำ โคมประเทียบ บริวารวิจิตรด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปและสัณฐานต่างๆ มาประกวดชักแขวนเป็นระเบียบตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำ โคมลอย ร้อยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกัน ถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท นางนพมาศจึงคิดตกแต่งโคมลอยให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึงเลือกดอกไม้มาสลับซ้อนสีทำเป็นรูปดอกกระมุท กลีบบานรับแสงพระจันทร์ ปักด้วยเทียน ธูป และประทีปน้ำมัน

ครั้นเพลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่งชลพิมาน พร้อมด้วยพระอัครชายา พระบรมวงศ์ และพระสนมกำนัล ฝ่ายนางท้าวทั้งหลายก็ลอยโคมของพระสนมกํานัลถวายให้ทอดพระเนตรและทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของนางนพมาศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลางทางตรัสชมว่า "โคมลอยอย่างนี้งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิด" ท้าวศรีราชศักดิโสภาก็กราบบังคมทูลว่าเป็นโคมของนพมาศ ธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นได้ทรงทราบก็ดำรัสถามนางนพมาศว่าทำไมจึงทำโคมลอยให้แปลกประหลาดเยี่ยงนี้ นางนพมาศจึงบังคมทูลว่า ตนเห็นว่าเป็นวันเพ็ญเดือน 12 พระจันทร์แจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน จึงทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดอยู่ในที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน เพื่อให้พระองค์ได้ทรงพระราชอุทิศให้สมกับนักขัตฤกษ์วันเพ็ญ

สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ฟังแล้วก็ตรัสชมว่า นางนพมาศมีปัญญาฉลาด สมที่เกิดในตระกูลนักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ ก่อนจะตรัสว่า "นับแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนันมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน" เท่ากับว่าประเพณีลอยกระทงจึงได้สืบสานมาจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

แชร์
ตำนาน นางนพมาศ จากพิธี "จองเปรียง" สมัยสุโขทัย สู่ประเพณี "ลอยกระทง"