ย้อนสถิติ 10 ปี ขยะกระทงใน กทม. รู้หรือไม่กระทงแต่ละชนิดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ทำอย่างไรถึงจะช่วยกันลดภาวะโลกเดือด!
เวียนมาถึงอีกปีสำหรับประเพณี "ลอยกระทง" ที่มีความเชื่อว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคาที่ช่วยปกปักรักษาดูแลแหล่งน้ำ และคือการปล่อยความทุกข์ ความโศกเศร้าต่างๆ ให้ลอยหายไป โดยแต่ละปีพบว่ามีชาวไทยและนักท่องเที่ยวมาร่วมสืบสานประเพณีนี้จำนวนมาก
เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติจำนวนการจัดเก็บขยะกระทงของกรุงเทพมหานคร 10 ปีย้อนหลัง นังตั้งแต่ปี 2557-2566 มีดังนี้
• ปี 2566 จัดเก็บกระทงได้ 639,828 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ คิดเป็น 96.74 % กระทงโฟม 24,516 ใบ คิดเป็น 3.26 %
• ปี 2565 จัดเก็บกระทงได้ 572,602 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ คิดเป็น 95.7% กระทงโฟม 24,516 ใบ คิดเป็น 4.3%
• ปี 2564 จัดเก็บกระทงได้ 403,235 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 388,954 ใบ คิดเป็น 96.5% กระทงโฟม 14,281 ใบ คิดเป็น 3.5%
• ปี 2563 จัดเก็บกระทงได้ 492,537 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 474,806 ใบ คิดเป็น 96.4% กระทงโฟม 17,731 ใบ คิดเป็น 3.6%
• ปี 2562 จัดเก็บกระทงได้ 502,024 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 483,264 ใบ คิดเป็น 96.3% กระทงโฟม 18.760 ใบ คิดเป็น 3.7%
• ปี 2561 จัดเก็บกระทงได้ 841,327 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 769,444 ใบ คิดเป็น 94.7% กระทงโฟม 44,883 ใบ คิดเป็น 5.3%
• ปี 2560 จัดเก็บกระทงได้ 811,945 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 760,019 ใบ คิดเป็น 93.6% จากกระทงโฟม 51,926 ใบ คิดเป็น 6.4%
• ปี 2559 จัดเก็บกระทงได้ 661,935 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 617,901 ใบ คิดเป็น 93.7% กระทงกโฟม 44,034 ใบ คิดเป็น 6.7%
• ปี 2558 จัดเก็บกระทงได้ 825,614 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 754,587 ใบ คิดเป็น 91.4% กระทงโฟม 71,027 ใบ คิดเป็น 8.6%
• ปี 2557 จัดเก็บกระทงได้ 982,064 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 885,995 ใบ คิดเป็น 90% กระทงโฟม 96,069 ใบ คิดเป็น 10%
นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะพบว่า ผู้คนจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการใช้กระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติมากกว่า 90% ในทุกปี และกระทงที่ทำมาจากโฟมก็มีแนวโน้มลดลงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า กระทงจากวัสดุธรรมชาติ กระทงจากขนมปัง หากเก็บขึ้นมาไม่หมดก็จะกลายเป็น "ขยะกระทง" ตกค้างในแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดมลพิษในแหล่งน้ำ และเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกเดือด
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้เผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระทงแต่ละชนิด ดังต่อไปนี้
• ต้นกล้วย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 170 gCO2e/kg (กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลกรัมต้นกล้วย)
• ขนมปัง ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 540 gCO2e/kg (กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลกรัมขนมปัง)
• โฟม ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6,260 gCO2e/kg (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลกรัมโฟม)
จะเห็นได้ว่าต่อให้เป็นกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายได้ แต่ก็ยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี ทำให้ปัจจุบันมีหลายคนเริ่มตั้งคำถามและวิธีการแก้ปัญหาว่า เราควรจะสืบสานประเพณีอันดีงามนี้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำลายให้น้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ครอบครัวเดียวกันลอยด้วยกันกระทงเดียว เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ 100% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลอยกระทงในสถานที่ที่ทางการจัดเตรียมไว้หรือสถานที่ปิดเพื่อง่ายต่อการจัดเก็บขยะ หรือเลือกใช้วิธี ลอยกระทงออนไลน์ ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น ก็นับว่าสะดวกและเป็นวิธีที่เหมาะสมกับคนยุคนี้ที่เทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายๆ ผ่านแค่ปลายนิ้ว
เปิดพิกัด ลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงดิจิทัล 2567
• งานลอยกระทงดิจิทัล 2024 ณ Skywalk สี่แยกปทุมวัน เขตปทุมวัน ลอยกระทงดิจิทัลในรูปแบบ Projection Mapping ใจกลางกรุง
• งาน AEON Digital Loy Krathong - Symphony of River ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิดลอยกระทงอย่างสร้างสรรค์ รักษ์โลก ผ่านระบบดิจิทัล
• งานลอยกระทงคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร พร้อมไฮไลต์การฉายภาพ Projection Mapping ของกระทงที่ออกแบบ โดยศิลปินไทยกว่า 20 คน ขึ้นบนกำแพงอาคารสูง 12 ชั้น และเปิดให้ทุกคนส่งภาพกระทงที่ออกแบบเองมาลอยขึ้นฟ้าด้วย
• งานรางน้ำลอยกระทงดิจิทัล Rangnam Loy Krathong Digital ณ สวนสันติภาพ เขตราชเทวี
Advertisement