Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
โรงแรมดาราเทวี จากโรงแรมหรู สู่การล้มละลาย ซ้ำร้ายด้วยเพลิงพิโรธ!

โรงแรมดาราเทวี จากโรงแรมหรู สู่การล้มละลาย ซ้ำร้ายด้วยเพลิงพิโรธ!

23 เม.ย. 68
11:01 น.
แชร์

ย้อนมหากาพย์ "ดาราเทวี" โรงแรมแห่งวัฒนธรรมล้านนา จากโรงแรมหรู 6 ดาวของเชียงใหม่ สู่การล้มละลาย ปิดกิจการ ซ้ำร้ายด้วยเพลิงพิโรธ!

โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ถือกำเนิดขึ้นจากความฝันอันยิ่งใหญ่ของ คุณสุเชฏฐ์ สุวรรณมงคล ดีลเลอร์ขายรถรายใหญ่ในภาคใต้ ผู้มีความชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมล้านนา จึงได้ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงแรมดาราเทวี โดยมีแรงบันดาลใจจากการต้องการสร้างสรรค์โรงแรมระดับโลกที่สะท้อนถึงความงดงามของศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมล้านนาอย่างแท้จริง บนพื้นที่อันเงียบสงบและเขียวชอุ่มประมาณ 150 ไร่ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนห้องพัก 123 ห้อง โดยใช้ทุนในการก่อสร้างสูงถึง 3,000 ล้านบาท

การก่อสร้างเป็นไปอย่างพิถีพิถันในทุกรายละเอียด โดยมีการศึกษาและถอดแบบสถาปัตยกรรมล้านนาดั้งเดิมอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหลังคา จั่ว ลวดลายแกะสลัก หรือการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้สัก หิน และอิฐ เป็นหลัก ผสานเข้ากับความสะดวกสบายและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อมอบประสบการณ์การพักผ่อนที่หรูหราและเป็นเอกลักษณ์

ความหมายของ "ดาราเทวี"

ชื่อ "ดาราเทวี" เองก็มีความหมายอันเป็นมงคล ลึกซึ้ง และเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ล้านนา สื่อความหมาย 3 อย่าง คือ ความหมายแรก เป็นส่วนหนึ่งในพระนามของ เจ้าดารารัศมี พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา ความหมายที่สอง สืบเนื่องจากการวางตำแหน่งอาคารในลักษณะของจักรราศีตามความเชื่อล้านนา คือ 1 ประตู มีประตูทางเข้าทางเดียวคือ ประตูไชยะดาราฯ 3 จอง คืออาคารหลัก 3 หลัง ไว้บริการแขกทุกคน 7 หนอง คือ หนองน้ำเดิมและที่ขุดขึ้นใหม่ 12 หอ คือ อาคารต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายกันเป็นรูปนกตามแผนที่โรงแรม โดยเฉพาะ "นกยูง" เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์อันเป็นศูนย์กลางในทางดาราศาสตร์ และความหมายที่สาม ออกแบบโดยใช้ "ดวงดาว" เป็นโลโก้ของโรงแรม เพื่อสื่อถึงคำว่า “เทวี” ที่มาจากการนับถือสตรีสูงศักดิ์ที่เป็นตัวแทนของความดีงามในสังคมล้านนา

"ดาราเทวี" โดดเด่นเรื่องความหรูหรา และสถาปัตยกรรมสุดวิจิตร

โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2547 โดยเลือกเชนโรงแรมหรู “แมนดาริน กรุ๊ป” ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมที่มีเครือข่ายทั่วโลกให้เข้ามาเป็นผู้บริหาร โดยดาราเทวีจะได้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการโรงแรม การทำตลาด ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการเทรนนิ่งบุคลากร จากแมนดาริน กรุ๊ป มาช่วยในเรื่องการบริหารและบริการลูกค้า

ด้วยความอลังการของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นราวกับยกเมืองล้านนาโบราณมาไว้ ณ ที่แห่งนี้ โรงแรมได้รับการออกแบบให้เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ประกอบด้วยห้องพักและวิลล่าส่วนตัวที่ตกแต่งอย่างหรูหราด้วยศิลปะและเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักอันประณีต ห้องพักแบ่งเป็นแบบวิลล่าและสวีท มีพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้นที่ 60 ตารางเมตรไปจนถึง 644 ตารางเมตร หรือเทียบได้กับบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทำให้ราคาห้องพักบางห้องแตะหลักแสนบาทต่อคืน

สิ่งอำนวยความสะดวกระดับโลกถูกจัดเตรียมไว้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ห้องอาหารรสเลิศหลากหลายรูปแบบ สปาอันเลื่องชื่อ "ดาราเทวี อะคาเดมี" ที่นำเสนอศาสตร์บำบัดแบบดั้งเดิม และพื้นที่จัดกิจกรรมที่โอ่โถง ด้วยความโดดเด่นในด้านการออกแบบ บริการที่เป็นเลิศ และบรรยากาศที่งดงาม ทำให้โรงแรมดาราเทวีได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างรวดเร็ว กลายเป็นจุดหมายปลายทางของการพักผ่อนระดับลักซ์ชัวรี และได้รับรางวัลต่างๆ มากมายในระดับนานาชาติ

ดราม่าสถาปัตยกรรมล้านนา "ดาราเทวี"

โรงแรมดาราเทวี เจอดราม่าตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้างในปี 2545 ถูกนักวิชาการล้านนาออกมาต่อต้าน กรณีนำโบราณสถานและสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เข้าไปไว้ในโรงแรม ทางโรงแรมได้จำลองภาพของวัดวาอาราม สิ่งก่อสร้างต่างๆ แบบเก็บรายละเอียดแทบทุกเม็ด เอามาตั้งไว้เหมือนกับเมืองโบราณ ใช้แนวคิด "ล้านนาประยุกต์" ซึ่งได้สร้างผลกระทบด้านความเชื่อและความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมอย่างแน่นหนา

เนื่องจากโบราณสถานหรือวัดวาอารามต่างๆ นั้น มีขนบธรรมเนียมแบบแผน ซ่อนคติธรรมและความเชื่อเอาไว้ ทั้งวิหาร หอธรรม บ่อน้ำ แม้กระทั่ง ตุง ฉัตร ช่อฟ้า ใบระกา หรือลวดลายแกะสลัก ล้วนมีที่มาที่ไป แต่ทั้งหมดถูกนำมาใช้ในการตกแต่งที่ดูวิจิตรอลังการตระการตาสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ในมุมมองของคนล้านนาบางส่วนมองว่าไม่เหมาะสม แต่ทางด้านเจ้าของทุนระบุว่าไม่มีเจตนาจะลบหลู่ศาสนา เพียงแต่เป็นความตั้งใจที่จะนำศิลปวัฒนธรรมที่ดีที่สุดระดับมาสเตอร์พีชของล้านนามาให้ชาวต่างชาติได้เห็น

อีกมุมหนึ่งก็มีคนมองว่า โรงแรมแต่ละแห่งมีวิธีการนำเสนอที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของแต่ละพื้นถิ่น เข้ามาผูกโยงเป็นเรื่องราว เพราะถือว่าเป็นจุดขายสำคัญที่ลูกค้าชาวต่างชาติให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ การลอกเลียนแบบหรือจำลองวัดไว้ในโรงแรมสำหรับบางกลุ่มเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก แต่ในขณะที่นายทุนมองไปที่เรื่องการเชิดชูศิลปวัฒนธรรมที่เด่นของล้านนา เป็นการมองในมุมที่ต่างกัน ซึ่งในอนาคตก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น หรือมีการเปิดเวทีให้ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการประนีประนอมให้มากที่สุดระหว่างนายทุนและชุมชนท้องถิ่น

"ดาราเทวี" ได้เวลาเปลี่ยนมือเจ้าของ

โรงแรมดาราเทวี ดำเนินกิจการท่ามกลางข่าวลือในเรื่องของการพยายามขายกิจการออกมาตลอด มีกลุ่มทุนหลายรายทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนจีน สนใจซื้อกิจการและร่วมทุน จนกระทั่งในปี 2558 ข่าวลือก็เป็นจริง เพราะบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ของ นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ แบบ 100% พร้อมหนี้ รวมมูลค่าการซื้อทั้งหมด 2,520 ล้านบาท

หลัง IFEC ซื้อกิจการกลุ่มดาราเทวีมาแล้ว ช่วงปี 2559-2561 มีกระแสข่าวลือว่าโรงแรมดาราเทวีใกล้ล้มละลาย เพราะ IFEC มีปัญหาผู้ถือหุ้น แต่ผู้บริหารได้ออกมาปฏิเสธ ในช่วงปี 2563 ไวรัสโควิด-19 เล่นงานทั่วโลก ประเทศไทยซึ่งรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก โรงแรมดาราเทวีก็อยู่ภาวะซวนเซเช่นกัน จนจำเป็นต้องประกาศปิดกิจการให้บริการโรงแรมดาราเทวีลงชั่วคราวในเดือนเมษายน 2563 เพราะไม่สามารถเปิดให้บริการโรงแรม ที่มีพนักงานกว่า 300 คน โดยให้บริการลูกค้าที่มีผู้เข้าพักเพียงห้องเดียวได้

เดือนมิถุนายน 2563 โรงแรมดาราเทวี ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องฟื้นฟูกิจการ โรงแรมดาราเทวีใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่ง และท้ายสุดศาลอุทธรณ์ ก็มีคำสั่ง “ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ” เช่นเดิม จนในที่สุดโรงแรมดาราเทวีต้องเดินเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย พร้อมประกาศปิดกิจการอย่างเป็นทางการ เลิกจ้างพนักงานทุกคน และรอกรมบังคับคดีขายทอดตลาดเพื่อจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

โรงแรมดาราเทวี ถูกนำมาประมูลขายทอดตลาดหลายครั้ง และมีข้อพิพาทหลายประการ จนในปี 2566 บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (IThermal) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นร้อยละ 99.99 และบริษัท สยามเอสเตทแอนด์โฮเทล จำกัด (ผู้ร่วมทุน) ได้ร่วมลงทุนซื้อทรัพย์สินของบริษัท โรงแรมดาราเทวีดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาด

โรงแรมดาราเทวี ได้กลับมาเปิดอีกครั้ง หลังผ่านสถานการณ์ล้มละลาย และกรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดด้วยราคา 2,116 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาเริ่มต้นเพียง 50% ขณะที่รวมมูลค่าหนี้สิน เป็นเงิน 4,300 ล้านบาท โดยกิจกรรมแรกเริ่มจัดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา โดยทุกปลายเดือนจะมีการจัดโซนด้านหน้า พัฒนาพื้นที่เป็น "กาดดาราเทวี เชียงใหม่" แม้ตัวอาคารของโรงแรมยังไม่เปิดให้เข้าไปภายใน แต่ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวก็สามารถถ่ายรูปในบริเวณกาด หรือด้านหน้าอาคารได้

"กาดดาราเทวี" พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์สะท้อนอัตลักษณ์ล้านนา

โครงการ "กาดดาราเทวี" เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง เทศบาลตำบลท่าศาลา และดาราเทวี เชียงใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ล้านนาแบบดั้งเดิม โดยมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นเมือง การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในพื้นที่

นายสุพรรณ เศษธะพานิช ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม เอสเตท ดาราเทวี จำกัด เผยว่า โครงการ "กาดดาราเทวี" มีแนวคิดสำคัญเพื่อเป็นการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ในด้านศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และสัมผัสสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นและชุมชนให้มีพื้นที่นำเสนอผลงานและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ผสมผสานเสน่ห์ของวัฒนธรรมล้านนาเข้ากับความร่วมสมัย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยหวังว่า "กาดดาราเทวี" จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่จังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน

ล่าสุด เมื่อเวลา 02:00 น. (23 เม.ย. 2568) หน่วยกู้ชีพกู้ภัยได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้บริเวณ โรงแรมดาราเทวี มีการระดมรถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว และอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย

Advertisement

รูปภาพทั้งหมด

แชร์
โรงแรมดาราเทวี จากโรงแรมหรู สู่การล้มละลาย ซ้ำร้ายด้วยเพลิงพิโรธ!