Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนเส้นทางกว่าศตวรรษ "ชุดลูกเสือ" สู่ยุคสมัยที่ไม่มีเครื่องแบบบังคับ!

ย้อนเส้นทางกว่าศตวรรษ "ชุดลูกเสือ" สู่ยุคสมัยที่ไม่มีเครื่องแบบบังคับ!

23 เม.ย. 68
16:11 น.
แชร์

ร้อยปีมีเรื่องเล่า! เส้นทางกว่าศตวรรษของเครื่องแบบลูกเสือไทย จากรัชกาลที่ 6 "กำเนิดชุดลูกเสือไทยคนแรก" ถึงยุคปัจจุบันสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในยุคนี้วันที่กฎระเบียบเปลี่ยนไป

จาก "ลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง" ถึงวันนี้การเดินทางของ "เครื่องแบบลูกเสือไทย" หลังจากวันนี้ 23 เม.ย. 2568 ได้มีการประกาศ "ยกเว้นการแต่งเครื่องแบบลูกเสือของสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ" ซึ่งการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสภาพอากาศตามบริบทของพื้นที่ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

Amarin Online พาไปย้อนเส้นทางกว่าศตวรรษ ของเครื่องแบบลูกเสือไทย จาก "รัชกาลที่ 6" ถึง "ยุคปัจจุบัน"
สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวันที่กฎระเบียบเปลี่ยนไป ซึ่ง "จุดเริ่มต้นของชุดลูกเสือ" มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการก่อตั้งขบวนการ "ลูกเสือโลก"

จุดเริ่มต้นในประเทศอังกฤษ

ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ (Lord Baden-Powell) เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการลูกเสือโลก เดิมทีเป็นนายทหารชาวอังกฤษที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันเมืองมาเฟกิง (Mafeking) ในแอฟริกาใต้ระหว่างสงครามโบเออร์ (Boer War) ในปี ค.ศ. 1899-1902

ในระหว่างการป้องกันเมืองมาเฟกิง "ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์" ได้สังเกตเห็นเด็กชายกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวสาร ผู้ช่วย และทำงานอื่น ๆ อย่างมีระเบียบวินัยและเสียสละ ทำให้เขาประทับใจในศักยภาพของเยาวชน

หลังสงคราม "ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์" ได้นำประสบการณ์และความคิดของเขามาเขียนเป็นหนังสือชื่อ "Scouting for Boys" ในปี ค.ศ. 1908 หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ทักษะการเอาตัวรอด การช่วยเหลือผู้อื่น และคุณธรรมต่าง ๆ

ในปีเดียวกัน "ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์" ได้จัดการค่ายลูกเสือทดลองครั้งแรกที่เกาะบราวน์ซี ประเทศอังกฤษ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้แนวคิดเรื่องลูกเสือเริ่มแพร่หลาย

ภาพจาก : สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

การกำเนิดชุดลูกเสือ (ประเทศอังกฤษ)

เน้นที่ความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอย ชุดลูกเสือในยุคแรก ๆ ได้รับการออกแบบให้มีความเรียบง่าย ทนทาน และเหมาะสมกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยมีพื้นฐานมาจากเครื่องแบบทหารของ "ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์" แต่ปรับให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น

ชุดลูกเสือในระยะแรก ประกอบด้วย

1. เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือยาว สีกากีหรือสีอื่น ๆ ที่มีความทนทาน

2. ขาสั้นหรือขายาว ทำจากผ้าเนื้อดี

3. หมวก มีหลายแบบ เช่น หมวกปีกกว้าง หรือหมวกทรงบีพี (B.P. Hat) ซึ่งเป็นหมวกสี่เหลี่ยมมีสันตรงกลาง

4. ผ้าพันคอ (Neckerchief) เป็นสัญลักษณ์สำคัญของลูกเสือแต่ละหมู่หรือกอง มักมีสีสันและลวดลายที่แตกต่างกัน

5. เข็มขัด โดยใช้คาดกางเกงและอาจมีหัวเข็มขัดที่เป็นสัญลักษณ์ของลูกเสือ

6. ถุงเท้าและรองเท้า ที่เหมาะสมกับการเดินและการทำกิจกรรม

ความหมายของชุดลูกเสือ

ชุดลูกเสือไม่ได้เป็นเพียงเครื่องแต่งกาย แต่ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเสมอภาค ความเป็นระเบียบวินัย และความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการลูกเสือ

การแพร่หลายสู่ประเทศไทย

ประเทศไทยได้เริ่มมีกิจการลูกเสือเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

แรงบันดาลพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทรงทราบถึงกิจการลูกเสือที่ก่อตั้งโดย "ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์" และทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการฝึกอบรมเยาวชนให้มีระเบียบวินัย เสียสละ และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

ด้วยพระราชประสงค์ที่จะนำแนวคิดนี้มาพัฒนาเยาวชนไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง กองลูกเสือกองแรกของประเทศไทย ขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ณ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้กิจการลูกเสือช่วยสร้างนิสัยที่ดีแก่เยาวชน เช่น การสังเกต การเชื่อฟัง การพึ่งพาตนเอง ความซื่อสัตย์สุจริต และการบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์

ลูกเสือคนแรกแห่งสยาม

ลูกเสือไทยคนแรก คือนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง "ชัพน์ บุนนาค" เขาได้ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระผู้สถาปนากิจการลูกเสือไทย ตรงกับวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 กล่าวคำสาบานตนว่า

“ข้าขอสัญญาว่า ข้อ 1. ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้อ 2. ข้าจะตั้งใจประพฤติตนให้สมควรที่เป็นลูกผู้ชาย ข้อ 3. ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนของลูกเสือ”

ภาพจาก : เว็บไซต์บุนนาค

ชุดลูกเสือในยุคแรกของไทย

ชุดลูกเสือในยุคแรกของไทยได้รับอิทธิพลจาก "ชุดลูกเสือของอังกฤษ" แต่ก็มีการปรับให้เหมาะสมกับบริบทของไทย

โดย ชุดลูกเสือกำเนิดครั้งแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรียกว่า "ชุดลูกเสือหลวง" ซึ่ง "ร้านวิวิธภูษาคาร" แถวถนนเฟื่องนคร (ใกล้วัดราชบพิธและสี่กั๊กพระยาสี) เป็นร้านแรกที่ตัดชุดลูกเสือ และ "ร้านเซ่ง" เป็นร้านแรกที่ตัดรองเท้าลูกเสือ

วิวัฒนาการของชุดลูกเสือ

หลังจากกิจการลูกเสือแพร่หลายไปทั่วประเทศ "ชุดลูกเสือ" จึงมีการพัฒนาจากรูปแบบเดิมของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มาเป็นชุดที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งมีตั้งแต่ ลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ลูกเสือวิสามัญ ลูกเสือทะเล และลูกเสืออากาศ

ความสำคัญของชุดลูกเสือ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับเครื่องแต่งกายลูกเสือ โดยทรงตรา พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือ เพื่อกำหนดระเบียบแบบแผนของชุดลูกเสือให้เป็นมาตรฐาน

"ชุดลูกเสือ" ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องแบบ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นลูกเสือ ความมีระเบียบวินัย ความภาคภูมิใจ และความสามัคคีในหมู่คณะ

ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Advertisement

แชร์
ย้อนเส้นทางกว่าศตวรรษ "ชุดลูกเสือ" สู่ยุคสมัยที่ไม่มีเครื่องแบบบังคับ!