“กล้วยตากบางกระทุ่ม” เกิดมาจากกลุ่มเกษตรกรบางกระทุ่มเป็นผู้ริเริ่มผลิตกล้วยตาก เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 โดยมี “ชาวบ้านเกาะคู” ม.3 ต.บางกระทุ่ม ได้นำกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องมาทดลองตาก ปรากฏได้เป็นผลผลิตกล้วยตาก ทำให้สามารถนำมาออกจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับหลายร้อยครอบครัว จากนั้นจึงยึดเป็นอาชีพหลักมานานจนขณะนี้นับเป็นเวลากว่า 90 ปี
เบื้องหลังความสำเร็จของกล้วยตากบางกระทุ่มนั้น ต้องย้อนเวลากลับไป เมื่อ 20 กว่าปีก่อน นายประภาส สิงหลักษณ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นกำนันของตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก กำนันประภาสได้ส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์ดี มีรสหวานอร่อย เขาเห็นว่า กล้วยน้ำว้านั้นขายได้ราคาดี ขายได้ทั้งผลดิบและผลสุก และยังเอามาแปรรูป ทำเป็นกล้วยตาก
เมื่อกล้วยตากบางกระทุ่มโด่งดัง กลายเป็นสินค้าขายดี คนในชุมชมจึงหันมาทำกล้วยตากขายกันอย่างจริงจัง ด้านกำนันประภาสได้เปิดบ้านของตนเองให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในการทำกล้วยตากแบบครบวงจร เพื่อจะให้ภูมิปัญญาการทำกล้วยตากนั้นแพร่หลายยิ่งขึ้น เขามุ่งหวังว่า อาชีพการทำกล้วยตากจะอยู่คู่คนบางกระทุ่มและให้คนรุ่นลูกหลานสืบทอดต่อไปได้อย่างที่ตั้งใจ
ในปี พ.ศ. 2536 กำนันประภาสจึงตัดสินใจนำที่ดิน จำนวน 15 ไร่ 88 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และได้ทรงมอบหมายให้ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีอาชีพผลิตกล้วยตากใน อ.บางกระทุ่ม
โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านเกาะคู อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก จึงได้เริ่มดำเนินงาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกล้วยตากแบบครบวงจร และปรับเปลี่ยนวิธีการตากแบบพื้นบ้าน มาใช้ “โดมพาราโบล่า” ที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ ในการอบแห้ง ซึ่งสะดวกต่อการใช้งาน ช่วยป้องกันการปนเปื้อนจากฝุ่น แมลง และยังสามารถ ใช้ได้ในทุกฤดูกาล ช่วยลดการสูญเสียของผลผลิต ทำให้ได้ผลผลิตที่มีรสชาติ คุณภาพที่สม่ำเสมออีกด้วย
เคล็ดลับการขยายพันธุ์กล้วยให้ได้ผลผลิตสูง
โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ ในการขยายพันธุ์กล้วย โดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และวิธีการผ่าหน่อ เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายและสนับสนุนกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องให้แก่ประชาชนและเกษตรกรที่มีความสนใจ ทางโครงการจึงมุ่งอนุรักษ์และขยายพันธุ์กล้วยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
การขยายพันธุ์กล้วยที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วคือการผ่าหน่อ โดยวิธีการผ่าหน่อ คือ นำเหง้ากล้วยมาสับเป็นชิ้นๆ และนำไปลงแปลงที่เตรียมไว้ จากนั้นกลบด้วยแกรบดำ รดน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน หน่อกล้วยก็จะงอกขึ้นมา ผลดีคือเราสามารถได้ต้นพันธุ์ที่เหมือนกับต้นแม่เดิม ในส่วนของขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ชาวบ้านหรือเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยวัสดุที่มีอยู่ในทุกครัวเรือน
ในส่วนของการเพาะพันธุ์เนื้อเยื่อกล้วยเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่งที่ใช้ชิ้นส่วนของพืช ด้วยการนำชิ้นส่วนของต้นแม่ มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ในห้องปฎิบัติการที่ควบคุมเรื่องความสะอาดแบบปลอดเชื้ออุณหภูมิ และแสง เมื่อชิ้นส่วนนั้นเจริญและพัฒนาเป็นต้นพืชที่สมบูรณ์ สามารถนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติได้
ข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย ทำให้สามารถผลิตต้นกล้วยได้ในปริมาณมากในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยวิธีการอื่นๆ อีกทั้งลักษณะของต้นกล้วยที่ได้จะตรงตามสายพันธุ์ ไม่เกิดการกลายพันธุ์ และปราศจากโรค ทางโครงการสนับสนุนองค์ความรู้ ให้ข้อมูล รวมทั้งกระบวนการ วิธีการ ให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำตลอดทุกกระบวนการ
กล้วยตากคุณภาพดีเริ่มต้นจากการคัดเลือกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติหวาน หอม เนื้อแน่น เหมาะสำหรับการนำมาทำกล้วยตาก กล้วยน้ำว้าที่นำมาทำกล้วยตากจะต้องมีอายุที่เหมาะสม
กระบวนการผลิตกล้วยตากใส่ใจทุกขั้นตอน
เกษตรกรชาวบ้านเกาะคูจะเริ่มต้นกระบวนการผลิตกล้วยตากในช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อให้กล้วยทันแดดในตอนเช้าตรู่ และสิ้นสุดกระบวนการตากแดดในช่วงเย็น ทำจนกว่ากล้วยจะแห้งสนิทดี กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 3 – 5 วัน
1.เริ่มจากคัดเลือกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องที่สุกพอดี เปลือกมีสีเหลือง ไม่เขียว และไม่งอมเกินไป นำมาปอกเปลือกกล้วย แล้วนำไปล้างน้ำสะอาดเพื่อกำจัดยางกล้วย
2.นำกล้วยที่ปอกแล้วมาจัดเรียงลงบนตะแกรงที่เตรียมไว้ ควรเว้นระยะห่าง กระจายกล้วยไม่ให้ซ้อนทับ เพื่ออากาศถ่ายเทได้สะดวก
3.ตากกล้วยในโดมพาราโบล่าที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ในการอบแห้ง ช่วยป้องกันการปนเปื้อนจากฝุ่น แมลง และยังสามารถใช้ได้ในทุกฤดูกาล ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยใช้เวลาในการตาก 3-5 วัน และพลิกกลับด้านทุกวันเพื่อให้แห้งทั่วถึง
4.เมื่อกล้วยแห้งได้ที่แล้วจะต้องมาตัดแต่งให้ดูน่ารับประทาน เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม หรือจะใช้ไม้หรืออุปกรณ์รีดให้แบนตามความชอบ
5.จากนั้นจะนำกล้วยมาอบในเตาอบ เพื่อไล่ความชื้นและฆ่าเชื้อโรคให้เนื้อกล้วยมีสีสวย และยืดอายุการเก็บรักษา ทำให้กล้วยตากมีคุณภาพดีและเก็บได้นาน
6.หลังจากอบเสร็จแล้ว พักให้เย็น แล้วบรรจุกล้วยใส่ซอง นำมาใส่กล่อง ทำให้ทานง่าย พกพาสะดวก อีกทั้งเพื่อรักษาความสดใหม่ สามารถเก็บได้นานหลายเดือน
ในทุกๆ ขั้นตอนเกษตรกรใส่ใจและพิถีพิถันตั้งแต่การคัดสรรกล้วยคุณภาพดี ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดในประเทศไทย ใส่ใจและควบคุมกระบวนการผลิตด้วยตนเองทุกขั้นตอน ทั้งในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ จนได้กล้วยตากคุณภาพดี โดยผู้ผลิตมีความมุ่งมั่นว่าผู้บริโภคจะได้รับประทานของสด ใหม่ อร่อย และมีประโยชน์
Advertisement