กระทรวงสาธารณสุข เผย หลับใน อันตรายเท่า เมาแล้วขับ แถมคนขับรถส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่ากำลังง่วง
กองการป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ความง่วงคล้ายคลึงกับภาวะเมาสุรา เพราะทำให้การทำงานของสมองประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง ใจลอย ไม่มีสมาธิ การรับรู้ช้าลง การตัดสินใจผิดพลาด การสั่งการของสมองกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จึงแตะเบรกช้าหรือหักหลบช้าผิดปกติ คนที่ง่วงแล้วขับจึงไม่ต่างจากคนเมาแล้วขับ
หลับใน คืออะไร อาการ
หลับใน คือ การหลับขณะที่ตายังคงเปิดอยู่ แต่ไม่รับรู้ภาพเบื้องหน้า อาจเกิดในระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่เกิน 10 วินาที โดยหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยไม่มีคนควบคุม ลักษณะการชนจึงรุนแรงมาก เพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก ทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ทันที
สาเหตุของการหลับใน
การหลับใน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังนี้
- อดนอน หรือ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ เป็นต้น
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- โรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เช่น นอนกรน หยุดหายใจในขณะนอนหลับ เป็นต้น
ก่อนหลับใน ร่างกายส่งสัญญาณเตือนอย่างไร
- หาวบ่อยและหาวต่อเนื่อง
- ใจลอย ไม่มีสมาธิ
- รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย
- จำไม่ได้ว่าขับผ่านอะไรมาเมื่อ 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา
- รู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัด
- รู้สึกมึน หนักๆ หัว
- ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง
- มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายบอกทาง
วิธีแก้ง่วง
- ล้างหน้าด้วยน้ำเย็น
- ผ้าเย็นเช็ดหน้า เช็ดลำคอ เช็ดแขน เพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้น
- ดมยาดม
- ยึดเส้นยืดสาย จอดพักรถทุกๆ 150 กิโลเมตร หรือทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
- ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลัง
- กินผลไม้รสเปรี้ยว
- เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
- เปิดเพลงจังหวะสนุกสนานแล้วร้องตาม
- เปิดฟังเรื่องเล่าสยองขวัญ
- ถ้าใช้โทรศัพท์ให้ใช้คู่กับหูฟังสมอลทอล์ก แอร์พอร์ด หรือเปิดสปีกเกอร์โฟน
- ง่วงก็จอดนอน ปัจจุบันปั๊มน้ำมันหลายแห่งมีบริการจุดจอดนอน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ร้านสะดวกซื้อ ไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด ความปลอดภัยเรียกได้ว่าวางใจได้ หายง่วงแล้วค่อยไปต่อเพื่อความปลอดภัยของตนเอง และผู้ร่วมทาง
ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข
Advertisement