กองทัพเรือ ชี้แจงสาเหตุ กรณีปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร ของเรือหลวงชลบุรี ลั่นโดน เรือหลวงคีรีรัฐ ชี้ระบบนิรภัยการห้ามไกของปืนทำงานผิดพลาด พร้อมตั้งกรรมการพิจารณาโทษหากมีผู้ละเมิดและกำหนดมาตรการป้องกัน
เมื่อเวลา 15.00 น. (วานนี้) พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานการแถลงข่าว ชึ้แจงข้อเท็จจริง กรณี ปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร ออโตเมลารา ของ เรือหลวงชลบุรี เกิดอุบัติเหตุลั่น โดนเรือหลวงคีรีรัฐ โดยมี พลเรือตรี เฉลิมชัย สวนแก้ว ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว ร่วมแถลงข่าว ณ สโมสร นายทหารสัญญาบัตรกองเรือยุทธการ อ่าวดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ เปิดเผยว่าเมื่อ วันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 06:30 น. เรือหลวงชลบุรี ได้ออกเรือเพื่อทำการฝึกยิงปืนในทะเล บริเวณเกาะริ้น ระหว่างฝึกยิงปืนนั้น ปืนเรือได้มีการขัดข้องจำนวน 2 ครั้ง โดยช่างปืนของเรือหลวงชลบุรี สามารถแก้ไขการขัดข้อง และสามารถทำการยิงต่อไปได้ โดยระหว่างการฝึกยิงปืนรอบสุดท้าย ไม่สามารถฝึกยิงลูกปืนจนหมดตามแผนได้ เนื่องจากสนามฝึกยิงปืนไม่ปลอดภัย จึงเดินทางกลับมาจอดเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบ โดย ช่างปืนของทางเรือ ได้ดำเนินการถอดถอนลูกปืนออกจากระบบบรรจุของปืน แต่ไม่สามารถถอดถอนลูกปืนที่เหลืออีก 3 นัด ออกจากระบบบรรจุของปืนได้ เนื่องจากระบบมีอาการขัดข้อง ทางเรือจึงขอรับการสนับสนุนช่างปืนจากกรมสรรพาวุธทหารเรือ มาดำเนินการถอดถอน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยขณะนั้น ลูกปืนจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระบบบรรจุ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะเคลื่อนตัวเข้ารังเพลิงที่จะเสี่ยงต่อการลั่นของปืน และเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ตามระเบียบความปลอดภัยในการฝึกยิงปืนในเรือของกองเรือยุทธการ โดยดำเนินการกระดกปืนไว้ที่มุม 40 องศา ซึ่งเป็นมุมที่ปลอดภัยและถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักการนิรภัย
ต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ช่างปืนจากกรมสรรพาวุธทหารเรือ จำนวน 4 นาย เดินทางมาถึงเรือหลวงชลบุรี และดำเนินการถอดถอนลูกปืนที่อยู่ในระบบบรรจุของปืน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและแก้ไขปืนเรือให้เข้าสู่สภาวะปกติ โดยได้ตรวจสอบ และดำเนินการแก้ไขข้อขัดข้องตามขั้นตอน ซึ่งในระหว่างที่แก้ไขข้อขัดข้องอยู่นั้น ลูกกระสุนที่อยู่ในรางบรรจุได้เลื่อนเข้าไปในลำกล้อง และเกิดอุบัติเหตุปืนลั่น โดน เรือหลวงคีรีรัฐ จนเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณท้ายเรือ
จากการสอบสวน เจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารเรือทราบว่า ตรวจพบลูกปืนหนึ่งนัด อยู่ในถาดบรรจุ และอีกสองนัดอยู่บนพลูป้อนลูกปืน และมีลองลูกปืน (ปลอกกระสุนที่ยิงออกไปแล้ว) ถูกขัดอยู่บริเวณนิรภัยลองเปล่า ทำให้ลำกล้องปืนไม่เลื่อนเข้าไปสู่สภาวะปกติ
เนื่องจากปืนอยู่ในสถานะปลอดภัย ลูกปืนไม่อยู่ในสถานะพร้อมยิง มีกลไลนิรภัยที่จะห้ามไก มิให้ปืนลั่น ช่างสรรพาวุธ จึงมีแนวคิดในการถอนลองลูกปืนที่ค้างก่อน เพื่อให้ปืนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าช้า ๆ โดยวิธีการที่จะถอนลูกปืนออกจากตัวปืนได้ จะต้องเลื่อนถาดบรรจุลูกปืนที่ค้างในถาดบรรจุนัดแรกลงมาในแนวเดียวกับรังเพลิง แล้วถอนลูกปืนจากตำแหน่งด้านหน้ารังเพลิง ซึ่งวิธีนี้ ลูกปืนจะยังไม่ถูกบรรจุเข้ารังเพลิง อันจะเป็นอันตรายได้ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการเดียวกันกับลูกปืนที่ค้างในนัดที่ 2 และ 3 ตามลำดับต่อไป
แต่ในระหว่างที่ เจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารเรือเริ่มดําเนินการซ่อมทํา โดยทำการเลื่อนกระบอกปืนมายังตำแหน่งถอนลูกปืน และปลดนิรภัยลองเปล่า เพื่อให้ปืนกลับเข้าที่ข้างหน้าเพื่อถอนลูกปืน ปืนเกิดอาการกลับเข้าที่ข้างหน้าอย่างรุนแรง ทําให้ลูกปืนที่อยู่บนถาดบรรจุถูกผลักเข้าไปในรังเพลิง และลูกเลื่อน เลื่อนปิดทันทีที่ลูกปืนถูกรุณเข้ารังเพลิง และลูกปืนนัดนั้น ลั่นออกจากปืน ตามกลไกปกติของปืน ถึงแม้ลูกปืนเข้าไปในรังเพลิง แต่ปืนจะไม่ลั่นออกไป เนื่องจากมีเครื่องนิรภัยการลั่นไก เป็นตัวป้องกันมิให้มีการยิงออกไป อีกทั้งขณะนั้นไม่มีการเดินระบบไฟฟ้าเข้ามาในระบบ จึงไม่มีโอกาสที่จะระบบไฟฟ้าจะส่งผลให้การทำงานของระบบปืนผิดพลาด อีกทั้ง ระบบนิรภัยการลั่นไกมีการทำงานหลายชั้น จึงสรุปได้ว่า สิ่งนี้ไม่น่าจะเกิด แต่มีอุบัติเหตุที่เกิดจากความปกติของเครื่องนิรภัยการลั่นไก
ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการกล่าวว่า จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหาย บริเวณท้ายเรือของเรือหลวงคีรีรัฐทำให้เกิดความเสียหายจำนวนสี่ห้องบริเวณผู้ท้ายเรือ คือ ห้องใต้ป้อมปืนขนาด 40 มม. ห้องครัว ห้องเสมียนช่างกล และห้องน้ำนายทหาร ซึ่งไม่มีอุปกรณ์สำคัญของเรือได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เรือหลวงคีรีรัฐ ยังคงมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการ โดยกองเรือยุทธการ ได้ประสานให้กรมอู่ทหารเรือ เข้ามาตรวจสอบ เพื่อดำเนินการซ่อมทำให้อยู่ในสภาพเดิมต่อไป
ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บนั้น ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวว่า อุบัติเหตุในครั้งนี้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมจำนวน 14 นาย ส่วนใหญ่เกิดจากการสำลักควันไฟและลมร้อนที่เข้าไปในระบบหายใจ ส่วนน้อยมีอาการแสบตาเคืองตาและมีแผลเล็กน้อยที่ผิวหนัง ทั้ง 14 นายได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ตั้งแต่วันเกิดเหตุ ปัจจุบันกลุ่มผู้บาดเจ็บเล็กน้อยจำนวน 9 นาย ได้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บที่ต้องการการเฝ้าระวัง จำนวน 5 นาย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมกับการทำการรักษาด้วยเครื่องปรับความดันบรรยากาศสูงหรือแชมเบอร์ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บในระบบทางเดินหายใจ โดยปัจจุบันทุกนายมีอาการดีขึ้นตามลำดับ ยังคงเหลือผู้ป่วยที่ยังอยู่ห้อง ICU จำนวน 2 นาย ทั้งนี้ ผู้ป่่วยดังกล่าว ยังคงได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เฉพาะทางและได้รับการตรวจรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บนอกจากการรักษาพยาบาลแล้วกองทัพเรือยังได้มีการช่วยเหลือเยียวยาโดยได้มอบเงินสวัสดิการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุที่ทรัพย์สินเสียหายให้กับทุกคน นอกจากนั้นทางกองเรือยุทธการและกองเรือฟริเกตที่ 1 ซึ่งเป็นกองเรือต้นสังกัดของเรือหลวงคีรีรัฐ ได้มีการบำรุงขวัญให้แก่กำลังพลประจำเรือ 111 นาย ซึ่งเป็นเรื่องที่กองทัพเรือให้ความสำคัญ และให้ความเร่งด่วนในการช่วยเหลือเยียวยา
ในส่วนของ ผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ กล่าวว่า กองเรือตรวจอ่าว ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเรือหลวงชลบุรี ไม่ได้มีการปล่อยปละละเลยในการปฎิบัติหน้าที่ปัจจุบันทางกองกองเรือตรวจอ่าว ได้ลงคำสั่งให้ผู้บังคับการเรือหลวงชลบุรีมาช่วยราชการที่ กองบัญชาการกองเรือตรวจอ่าว แล้ว โดยจะมีการสอบสวนผู้บังคับการเรือ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีความผิดพลาดก็จะมีการพิจารณาโทษ โดยไม่มีการช่วยเหลือแต่อย่างใด
ทั้งนี้ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า กองทัพเรือมีการดำเนินการเป็นมาตรฐาน ตามขั้นตอน ซึ่งในขั้นตอนแรก คือการสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้กองเรือยุทธการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและทำการสอบสวน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ภายใน 3 วันตามที่ผู้บัญชาการทหารเรือสั่งการ สิ่งที่ได้จากขั้นตอนนี้ คือ สาเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งกองเรือยุทธการ ได้จัดทำรายงานผลการสอบสวนนำเรียนผู้บัญชาการทหารเรือแล้ว จะเห็นได้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องขององค์วัตถุและองค์บุคคล ซึ่งกองทัพเรือไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้หน่วยเกี่ยวข้องต่าง ๆ ดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องและทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติ และหากพบว่ามีการกระทำผิดในขั้นตอนใด ๆ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น จะพิจารณาลงโทษต่อไป รวมทั้งดำเนิน การทบทวนมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติ เพื่อมิให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก
Advertisement