ถนนสุขุมวิท ย่านการค้านักท่องเที่ยวหนาแน่น เป็นถนนที่ไม่เคยหลับไหล กลายเป็นทำเลทองของขอทานต่างด้าว ที่เข้ามาปักหลัก จับจองพื้นที่ขอเศษเงินจากคนที่เดินผ่าน
ทีมข่าวอมรินทร์ลงพื้นที่สังเกตการณ์ พบขอทานส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา มากันเป็นคู่ ผู้ใหญ่กับเด็ก บางรายกระเตงเด็กมามากกว่า 1 คน เด็กบางคนโตขึ้นหน่อยก็นั่งขอคนเดียว
จากการสังเกตใน 1 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวให้เงินขอทานมากกว่า 10 ครั้ง ทั้งเหรียญและแบงค์ โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กนั่งคนเดียวได้แบงค์ใหญ่ถึง 500 บาท ตีเลขคร่าวๆ คาดว่า 1 ชั่วโมง ขอทานเหล่านี้อาจได้เงินสูงถึง 500 บาท มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยทั้งวัน
ทีมข่าวพบขอทาน 3 แม่ลูกนั่งตรงทางขึ้นบันไดรถไฟฟ้าสถานีอโศกตั้งแต่เวลา 2 ทุ่ม จนเวลาประมาณ 5 ทุ่ม เธอเดินไปเรียกรถแท็กซี่กลับบ้าน เราจึงแอบตามไปติดๆ พบรถแท็กซี่มุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการ ก่อนจะเลี้ยวเข้าไปในซอยแห่งหนึ่งย่านสำโรง
ทันทีที่แท็กซี่จอด เธอกระเตงลูกเดินเข้าไปที่อพาร์ตเม้นท์สูงประมาณ 3 ชั้น เราเดินตามขึ้นไปที่ห้องของเธอ เมื่อเปิดประตูออกมา พบว่าภายในห้องมีชายวัยรุ่นอยู่ด้วย โดยผู้ชายเดินออกไปทันทีที่เห็นทีมข่าว หญิงขอทานมีท่าทีตกใจที่ทีมข่าวตามไปถึงรัง แต่เจ้าตัวยินดีให้เข้าห้องไปพูดคุย
หญิงขอทานชาวกัมพูชาวัย 29 ปี บอกเราว่า เธอชื่อเจียด เลิกกับสามีไปแล้ว ส่วนผู้ชายที่เห็นในห้องเป็นแค่เพื่อนข้างห้องเท่านั้นเด็กหญิง 2 คน ที่เธอพาไปนั่งขอทานด้วยเป็นลูกแท้ๆ อายุ 1 ขวบ และ 5 ขวบ ตัวเองอยู่ไทยมาเป็น 10 ปี เมื่อก่อนมีงานทำทั้งก่อสร้างและรับจ้างทั่วไป แต่ตอนนี้มีปัญหาการเงิน และลูกยังเล็ก จึงเริ่มไปนั่งขอทานได้ประมาณ 1 เดือน
เมื่อเปิดกระเป๋าดูเงินที่ขอทานมาได้วันนี้ มีทั้งเหรียญและแบงค์ 20 ไปจนถึงแบงค์ร้อย นับแล้วได้ 1,320 บาท ยังไม่รวมที่จ่ายค่าแท็กซี่ไป 200 บาท เท่ากับนั่งขอทานแค่ 3 ชั่วโมงแต่ได้เงินมากถึง 1,500 บาท ซึ่งเธอพยายามอ้างว่า เงินจำนวนนี้มีบางส่วนเป็นของตัวเองที่พกติดตัวไปด้วย ไม่ใช่เงินจากการขอทานทั้งหมด
เราตรวจสอบพบว่า สิ่งที่เจียดพูด ไม่ตรงกับความจริง เพราะมีภาพยืนยันจาก จนท. ว่า เจียดเคยถูกจับกุมมาแล้ว นั่นหมายความว่า เธอไม่ได้เพิ่งมานั่งขอทานแค่ 1 เดือนตามที่อ้าง
ไม่เพียงแค่เจียด แต่เราพบว่าขอทานอีกรายที่นั่งอุ้มลูกวัย 5 เดือนย่านสุขุมวิท ก็มีภาพคล้ายกับขอทานชาวลาว ที่เคยถูกจับกุมไปแล้ว 2 รอบ เมื่อปีที่แล้ว ตั้งแต่ช่วงตั้งท้องจนคลอดลูก
สอดคล้องกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ที่บอกว่า ขอทานกว่าครึ่งที่พบในกรุงเทพเป็นกลุ่มหน้าเดิม ที่ผ่านมาพยายามจัดระเบียบและกวดขันตามแหล่งที่ได้ข้อมูล ซึ่งขอทานเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2559 ที่มีการปรับปรุงกฎหมาย และดำเนินการอย่างจริงจัง
ซึ่งหากเป็นขอทานชาวไทย จนท. จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้กลับมาทำซ้ำ แต่ต่างด้าวต่างออกไป จับแล้วผลักดันกลับประเทศต้นทาง บางส่วนจึงเลือกที่จะแอบกลับเข้ามาอีกรอบ เพราะรายได้ดีกว่าทำงานอื่น ส่วนโทษเกี่ยวกับการขอทาน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุก 1 เดือน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกรงกลัว นอกจากจะเข้าข่ายเรื่องการค้ามนุษย์ เพราะโทษสูงกว่าเป็นคดีอาญา
Advertisement