จากกรณี “ทรัส” หรือตัวยกแผ่นปูนที่ใช้ก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม2 โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 1ช่วงที่ 3 พื้นที่ กม.21+600–กม.22+100 ถนนพระราม2 ขาออกกรุงเทพฯ หมู่ที่ 4 ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถล่มลงมา ในช่วงเวลา 04.07 น. วันที่ 29 พ.ย. 67 ขณะคนงานกำลังเชื่อมคานปูนเข้าด้วยกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และผู้บาดเจ็บ 9 รายส่งโรงพยาบาล ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
วันที่ 30 พ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคืบหน้าการเสียของนาย อภิวัฒน์ พะพันทาง หรือ โจ้ อายุ 30 ปี ชาวนครพนม ซึ่งเป็น 1 ในคนงานที่เสียชีวิตนั้น โดยนายโจ้ทำงานกะกลางคืน และเหลืออีกไม่กี่นาทีก็จะเลิกงาน แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันคานเหล็กได้ทรุดตัวลงมา ทำให้ร่างนายโจ้ที่ยืนอยู่ด้านบนลอยตกลงมา จนศีรษะโหม่งพื้นเสียชีวิตคาที่กลางถนนสายมรณะดังกล่าว และในวันเดียวกันหลังจากแพทย์ชันสูตรพลิกศพตามกระบวนการแล้ว ได้มอบศพนายโจ้ให้ญาตินำกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดจ.นครพนม
ส่วนบรรยากาศที่ บ้านเลขที่ 145 หมู่ 9 ต.วังตามัว อ.เมือง จ.นครพนม เป็นไปอย่างโศกเศร้า นายสำเริง พะพันทาง อายุ 48 ปี และนางกันนิกา ทุมทอง หรือ หรั่ง อายุ 48 ปี พ่อแม่ของนายโจ้ผู้ตายได้ปัดกวาดจัดเก็บสิ่งของ เพื่อเตรียมรอรับศพลูกชาย โดยมีญาติและเพื่อนบ้านมาให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสียตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นมีอุณหภูมิ 16 องศาเซลเซียล จนต้องก่อไฟผิงคลายหนาว
กระทั่งเวลาเที่ยงคืนกว่าของวันที่ 30 พ.ย. 67 รถตู้ได้นำร่างไร้วิญญาณของนายโจ้ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมาถึงบ้าน โดยพ่อแม่ รวมถึงญาติพี่น้องได้ประกอบพิธีรับศพตามประเพณี เป็นภาพสะเทือนใจ นางหรั่งร่ำไห้สะอึกสะอื้นตลอดเวลา เมื่อเห็นโลงศพของลูกชาย จากนั้นก็ย้ายโลงศพไปวางไว้ในบ้าน นายสำเริงผู้เป็นพ่อพยายามกลั้นน้ำตาไว้จุดธูปหน้าโลงศพด้วยมือสั่น พร้อมบอกลูกชายว่า “ถึงบ้านเราแล้วนะลูก”
นอกจากนี้ภาพสะเทือนใจที่สุดคือ ยังมีลูกชายทั้ง 3 คนของนายโจ้ผู้ตาย คนแรกอายุ 14 ปี คนที่สองอายุ 13 ปี และคนที่สามอายุ 9 ปี นั่งร่ำไห้รอรับศพพ่อ และจุดธูปไว้ศพพ่อด้วยความเสียใจ ส่วนน้องข้าวฟ่างลูกสาวคนสุดท้องอายุแค่ 3 ขวบนอนหลับอยู่ในที่นอน โดยยังไม่รู้ว่าพ่อเสียชีวิต ทั้งนี้ทางครอบครัววอนผู้เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสม ห่วงที่สุดคือทุนการศึกษาอนาคตของลูกผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน เพราะผู้ตายเป็นเสาหลักของครอบครัว ปกติจะทำงานรับจ้างหารายได้มาส่งเสียดูแลลูก และครอบครัว แต่พอขาดเสาหลักกระทบความเป็นอยู่แน่นอน
ทั้งนี้ในการเยียวยาเบื้องต้นของผู้เสียชีวิตจากคานเหล็กถล่มครั้งนี้ ค่าทำศพสำหรับคนงานชาวไทยรายละ 50,000 บาท เงินทดแทนรายละ 792,792 บาท และเงินบำเหน็จไม่รวมดอกผล ส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวเมียนมา 2 รายได้เงินเยียวยาเหมือนคนไทย ยกเว้นเงินบำเหน็จเพียงอย่างเดียว
Advertisement