โรงพยาบาลช้างกระบี่ Krabi Elephant Hospital โพสต์เฟซบุ๊กว่า หนึ่งในเหตุการณ์ในปี 68 นี้เริ่มต้นขึ้นด้วยข่าวที่ไม่สู้ดีนักจากแดนใต้ นั่นคือข่าวช้างทำร้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติจนเสียชีวิต สำนักข่าวต่างๆทั้งไทยและเทศรายงานด้วยโทนที่แตกต่างกันไป
และนี่คือข้อเท็จจริง
" ผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวสาวจากประเทศสเปน มาพักผ่อนที่เมืองไทยพร้อมกับแฟนหนุ่มหลังจากสำเร็จการศึกษา วันที่ 3 มกราที่ผ่านมาได้มาท่องเที่ยวแบบธรรมชาติที่ปางช้างแห่งหนึ่งบนเกาะยาว จ.พังงา จนถูกช้างทำร้ายเสียชีวิต"
และจากนี้คือข้อคิดเห็นที่เราเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อใครก็ตามที่จะต้องดูแลใกล้ชิดกับช้างต่อไป
" จากกการสอบถามพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น เกิดขึ้นจากที่ช้างพังสมบูรณ์ เพศเมียวัย 45 ปี นั่งหมอบในท่า dog sitting ในสระน้ำ (ดังภาพประกอบ) ระดับน้ำประมาณ 1 เมตร และต่อมาคุณการ์เซีย (ผู้เสียชีวิต)ได้เดินมาที่บันไดในสระน้ำและลื่นไถลลงมา ด้วยความตกใจ เธอได้ไถลไปเกาะที่งวงช้างที่นั่งหมอบอยู่ข้างๆ โดยสัญชาตญาณช้างมักไม่ใคร่ให้ใครจับสัมผัสงวง แบบฉับพลันเช่นนี้ จากนั้นจึงเกิดเหตุตามมาคือช้างใช้งวงกด (โท หรือรุน) ร่างนักท่องเที่ยวไปกับขอบสระด้วยความตกใจ โดยที่ควาญช้างเองไม่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมเช่นนี้ได้อย่างทันท่วงที ....ด้วยมือเปล่า"
ซึ่งเหตุเช่นนี้คนเลี้ยงช้างส่วนใหญ่ทราบดีว่า หากสิ่งใดตกหล่นหรืออยู่เบื้องหน้าช้างแบบฉับพลัน ช้างมักจะแสดงอาการตกใจด้วยการใช้งวงกดสิ่งนั้นให้หยุดเคลื่อนไหว บางเชือก/ตัวอาจใช้งากระแทก เท้าเตะ
สิ่งที่พอจะเรียกสติช้างและหยุดยั้งแบบฉับพลันได้คืออุปกรณ์ควบคุมช้างเช่นตะขอ มีดปลายแหลม แต่มากกว่านั้นคือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับนักท่องเที่ยว ไกด์ คนภายนอกให้เข้าใจพฤติกรรมช้าง และข้อควรระวังก่อนทำกิจกรรมร่วมกับช้างทุกครั้ง
การเลี้ยงช้างแบบมือเปล่า หากเกิดเหตุไม่คาดคิด ไม่มีใครช่วยเหลือใครได้ มีแต่จะเกิดความสูญเสีย อีกทั้งไม่แฟร์ต่อนักท่องเที่ยวที่เขาไม่รู้จักช้าง คิดว่าช้างสัตว์กินพืชไม่มีพิษภัย(?) และที่สำคัญไม่แฟร์กับช้างเลยที่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกรอันเกิดจากสัญชาตญาณตามธรรมชาติของเขาเอง
Advertisement