จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้อนุมัติให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสืบสวนคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม นักแสดงชื่อดัง เนื่องด้วยมีผู้ร้องขอให้สืบสวนสอบสวนและขอให้รับเป็นคดีพิเศษ “โดยผู้ร้องเห็นว่า” กระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา มีพฤติการณ์เป็นเงื่อนงำต้องสงสัย มีเหตุให้เชื่อได้ว่าอาจมีกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือบุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาหรือรับโทษน้อยลง ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากรณีดังกล่าวมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ จึงอนุมัติให้ทำการสืบสวนดังกล่าว ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสืบสวนคดีแตงโมของดีเอสไอ ภายหลังมีการอนุมัติการสืบสวน เลข สส.20/2568 โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ในเวลา 13.30 น. วันเดียวกันนี้จะมีการเปิดประชุมครั้งแรกของคณะพนักงานสืบสวน นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวคณะสืบสวนคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ที่ ห้องประชุม ชั้น 7 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
โดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยก่อนการประชุมคณะพนักงานสืบสวน ว่า สำหรับวาระการประชุมในวันนี้จะได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานภายในคณะสืบสวน หรือเรียกว่ากำหนดวิธีการสืบสวนสอบสวน เพื่อตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้มีการสืบข้อมูลมา โดยเฉพาะจะเน้นไปที่การตรวจสอบตามหลักนิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ เรื่องตำแหน่ง GPS บนเรือ เพื่อหาความเกี่ยวข้องของบุคคลอื่น รวมทั้งจะกำหนดกลุ่มพยานเพื่อสอบสวนปากคำ เช่น พยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช เป็นต้น
นอกจากนี้การแบ่งหน้าที่กันทำงานนั้น ก็เพื่อจะได้วางกรอบกันว่าเจ้าหน้าที่แต่ละรายจะเอาหลักฐานมาจากไหนบ้าง เพื่อนำไปตอบคำถามประเด็นต่าง ๆ ของผู้ร้อง (ภาคประชาชน) และนอกเหนือจากการสืบสวนภายในราชอาณาจักรแล้ว ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ ตนและคณะทำงานจะมีการเดินทางไปยังต่างประเทศในหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย เพื่อไปเอาข้อมูลภายในโทรศัพท์ของแตงโม และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในคดี ไม่ว่าจะอยู่บนเรือหรือนอกเรือก็ตาม เนื่องด้วยพบว่าข้อมูลหลายอย่างถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ระบบ Cloud หรือคลาวด์ ของผู้ให้บริการนั้น ๆ โดยเราจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 หรือ MLAT เพื่อให้ได้ข้อมูลมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้
พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า ยังมีวาระการประชุมเรื่องการคุ้มครองพยานด้วย เพราะบุคคลใดที่รู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วต้องมาให้ปากคำกับดีเอสไอในฐานะพยานรายสำคัญ เราจะมีมาตรการคุ้มครองพยานด้วย ส่วนกระบวนการสืบสวนโดยการสอบปากคำพยานรายอื่น ๆ ของนั้น คณะสืบสวนจะได้มีการกำหนดกลุ่มพยาน โดยเฉพาะกลุ่มพยานแรก คือ พยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่รู้เกี่ยวกับภาพจากกล้องวงจรปิด หรือเห็นเหตุการณ์ใด ๆ ในวันเกิดเหตุ จะได้ประมวลเรื่องได้ว่ามันตรงกับภาพข่าวที่มีการนำเสนอจริงหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ร้องได้แจ้งว่าจะมีการนำพยานอีกหลายกลุ่มเข้ามาให้คณะสืบสวนได้ทำการสอบปากคำ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ อีกหลายประเด็น ดังนั้น การที่ดีเอสไอจะลงพื้นที่ไปบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาสถานที่เกิดเหตุ ก็เป็นเหมือนการไปตรวจที่เกิดเหตุเพื่อมาประกอบกับการให้ถ้อยคำของพยานแต่ละราย โดยจะมีการล่องเรือโดยดีเอสไอเองและจะมีการใช้เครื่องมือพิเศษด้วย และเราจะประสานไปยังภาคเอกชน ที่มีเครื่องมือที่จะมาตรวจสอบความถูกต้องด้วย เพราะเราต้องให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ข้อมูลทุกอย่างต้องได้มาอย่างถูกต้อง
พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า สำหรับกรอบการสืบสวนในคดีนั้น มีระยะเวลา 6 เดือนจริง แต่สามารถขยายระยะเวลาต่อได้อีก ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้เวลาสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐานข้อเท็จจริงถึง 6 เดือนก็เป็นได้ เพราะเราได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ด้านระบบ GPS ด้านโทรศัพท์การสื่อสาร ด้านปฏิบัติการพิเศษ ด้านแผนที่ ส่วนวิเคราะห์ข่าว ด้านการคุ้มครองพยาน ด้านกฎหมาย ความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ และความรู้ด้านหมอ เป็นต้น
และเมื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้วจะได้มีการประมวลเรื่องเสนอไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมย้ำว่าการสืบสวนครั้งนี้ของดีเอสไอจะไม่เป็นการไปยุ่งหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในสำนวนหลัก ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการชั้นศาล เพราะจะมุ่งเน้นสืบสวนไปที่มีการร้องขอว่า “มีกลุ่มที่บิดเบือนในการกระทำครั้งนี้ หรือมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จหรือไม่ อย่างไร” ทั้งนี้ ที่เราต้องเน้นไปที่กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ เพราะเราได้ตรวจสอบแล้ว มีการสงสัยเรื่องผลตรวจนิติเวช เรื่องของมีเลือดออกที่กกหูสองข้าง และมีตัวยาบางตัวที่เราสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มต่าง ๆ
พ.ต.ต.ณฐพล ระบุว่า คณะสืบสวนได้เก็บข้อมูลเรื่องคลิปวิดีโอต่าง ๆ ในโซเชียลนำมาวิเคราะห์และพิสูจน์ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะคนที่นำเสนอข้อมูลมีในโซเชียลเยอะมาก และมีการบอกว่าตัวเองเป็นผู้ถ่ายภาพหรือจัดทำภาพ ดังนั้น เราจะพิสูจน์ทั้งหมดเพื่อให้สังคมเข้าใจรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ขณะที่ นายไกรศรี สว่างศรี ผอ.ส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ในส่วนของเลเซอร์สแกนนั้น เป็นเครื่องมือสแกนภูมิประเทศแบบ 3 มิติ เป็นคลื่นเลเซอร์ ซึ่งสามารถเก็บภูมิประเทศจริง และจำลองออกมาเป็นดิจิทัลได้ภาพเสมือนจริง ก่อนนำมาวิเคราะห์ในระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นพิกัดเดียวกับเรือ โดยเราจะสแกนตามลำน้ำทั้งหมด เพื่อนำมาผ่านกระบวนการคอมพิวเตอร์เพื่อหาพิกัดแบบภูมิศาสตร์ และจะนำมาตรวจสอบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่น คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีเอสไอนำมาใช้ในการตรวจสอบ
ทั้งนี้ สำหรับการใช้เลเซอร์สแกน เราจะเริ่มตรวจสอบพิกัดตั้งแต่ร้านอาหารบ้านตานิด ไปจนถึงจุดสะพานพระราม 8 โดยทั้งสองฝั่งแม่น้ำเราจะเก็บข้อมูลทั้งหมด และจะทำงานร่วมกับการบินโดรน อย่างไรก็ตาม การใช้เลเซอร์สแกน 3 มิติ ค่อนข้างมีความแม่นยำสูงในระดับเซนติเมตรหรือน้อยกว่านั้น คือระดับมิลลิเมตร เพราะเป็นการสแกนทุกจุดของวัตถุต่าง ๆ โดยละเอียด
Advertisement