วันที่ 17 ก.พ. 68 สำหรับความคืบหน้า ปฏิบัติการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ในการตรวจสอบ 8 พิกัดตามจีพีเอสเรือใน คดีแตงโม นิดา ตกเรือเสียชีวิต เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 65 นั้น
เมื่อเวลา 09.30 น. ทีมข่าวลงพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมนำเครื่องโซน่าสแกน เพื่อไปสแกนผิวน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ความเร็วเรือประมาณ 4 น็อต ระยะห่างจากตลิ่ง 60-70 เซ็นติเมตร เลาะไปตามเส้นตั้งแต่บริเวณสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ หรือ สะพานนนทบุรี 1 มุ่งหน้าไปยังท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ผ่านจุดท่าทราย และลอดใต้สะพานพระราม 7 กลับมายังวัดค้างคาว ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ และประชาชนตั้งข้อสงสัย
ทั้งนี้อุปสรรคในครั้งนี้คือน้ำที่ค่อนข้างแรง ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ยากลำบากเล็กน้อย
เมื่อเจ้าหน้าที่ขับเรือมาเลยจุดวัดค้างคาว ซึ่งใกล้เคียงกับจุดที่ร่างแตงโม ปรากฎว่าเรือเกิดดับลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคนขับเรือให้ข้อมูลว่าอาจจะไปติดกับเศษอะไรบางอย่างใต้น้ำ ก่อนที่จะทำออกเดินเรือกลับอู่เรือบ้านเรือเล็ก
จากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่สามารถใช้เครื่องโซน่าสแกนเส้นทางไปได้แล้วถึง 30% และจะเดินหน้าสำรวจต่อในช่วงบ่าย เพื่อนำไปประกอบการพิจจารณาต่อไป
ต่อมาเวลา 11.00 น. เรือของดีเอสไอ 5 ลำ และเรือของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ได้แล่นย้อนกลับมาทางทิศเหนือ จอดเทียบท่าเรือวัดค้างคาวโดยจุดนี้ นายไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมคณะฯ ได้นำเครื่องเลเซอร์สแกนนิ่ง สแกนภูมิประเทศ โดยบริเวณที่ใช้เครื่องสแกนได้มาสแกนภูมิประเทศตรวจสอบโครงสร้างบริเวณประตูระบายน้ำใกล้เคียงวัดค้างคาว และนำมาประมวลผลประกอบเป็นภาพสามมิติ ก่อนนำไปประกอบกับข้อมูล GPS เรือ สัญญาณโทรศัพท์ โดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้เวลา บริเวณจุดนี้ประมาณ 30 นาที โดยพื้นที่สแกนหลักๆมี 3 จุดคือบริเวณท่าเรือวัดค้างคาว ประตูระบายน้ำ และตลอดเส้นทางเดินเรียบแม่น้ำเจ้าพระยา
ขณะที่ตลอดช่วงเช้าทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แล่นเรือสำรวจ 3 จุดหลักๆ คือบริเวณกลางลำน้ำใกล้กับซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 ท่าเรือวัดค้างคาว และท่าทรายบริเวณหน้าบริษัท พูนพิพัฒน์ จำกัด โดยหลักๆ ใช้เครื่องเลเซอร์สแกนนิ่งและโดรนเก็บรวบรวมข้อมูล
นายไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า จุดนี้เจ้าหน้าที่ให้ความสนใจ หลังจากได้ข้อมูลมาว่าเรือลำเกิดเหตุลอยลำอยู่บริเวณนี้เป็นเวลานาน เพื่อจะนำไปรวบรวมข้อมูลกับที่ได้มาก่อนหน้านี้โดยความพิเศษของเครื่องเลเซอร์สแกนนิ่ง จะสามารถจำลองเหตุการณ์เทียบเคียงภาพเสมือนจริงได้มากที่สุดในคอมพิวเตอร์เทียบกับวันเกิดเหตุ โดยเครื่องนี้จะสามารถทำงานประกอบกับข้อมูล GPS เนื่องจากใช้ระบบเดียวกันผ่านสัญญาณดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล GPS ข้อมูล GPS โทรศัพท์ และภาพถ่ายแผนที่ดาวเทียม แล้วจะนำไปทำรูปแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิกสามมิติจำลองเหตุการณ์ประกอบกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยจะใช้วิธีการตั้งสมมุติฐานว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน ให้มีความใกล้เคียงกับข้อมูลที่ได้จากพยานให้มากที่สุด
ขณะที่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในวันนี้ที่มีผลกับเครื่องมือ คือเรื่องของกระแสน้ำเนื่องจากเครื่องมือจะต้องอยู่ในสภาพพื้นที่นิ่ง เพื่อที่ระบบจะได้ประมวลผลได้แม่นยำ
ทั้งนี้เครื่องเลเซอร์สแกนนิ่งตัวนี้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้นำมาใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบกับหลักฐานที่ได้มาก่อนหน้านี้โดยเครื่องนี้ราคาอยู่ที่ตัวละหนึ่งล้านบาท
Advertisement