จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และมี พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน รวมถึงมีการประชุมเปิดคดีของคณะพนักงานสอบสวนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดประเด็นการสอบสวน แนวทางการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน สำหรับนำเข้าสำนวนคดี ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องการลงพื้นที่สถานที่เกิดเหตุ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีมติให้มีการประสานกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่ทำงานร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นต้น แต่เนื่องจากตอนนี้ทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญอันดับแรกคือการบรรเทาสาธารณภัย แต่เราก็ต้องประสานการปฎิบัติเรื่องพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า หากดีเอสไอได้รับการประสานเพื่อเข้าพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมือง คาดว่าเจ้าหน้าที่กรมโยธาฯ จะดูในเรื่องของโครงสร้าง ส่วนสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ดูเรื่องเหล็ก ปูนนั้น เราก็จะต้องประสานเช่นเดียวกันเพราะทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ สมอ. ได้เข้าไปปฏิบัติในพื้นที่ก่อนแล้ว รวมทั้งต้องขอเอกสารสรุปผลรายงานการตรวจสอบคุณภาพเหล็กเส้นที่ใช้ในโครงการก่อสร้างด้วย ทั้งนี้ ดีเอสไอจะได้มีการทำหนังสือประสานไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอเข้าพื้นที่และประสานการปฎิบัติร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษลงนามหนังสือ
พ.ต.ต.วรณัน เผยต่อว่า ตนอยากประชาสัมพันธ์ขอให้กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวไทยทั้ง 3 ราย ให้ความร่วมมือเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพราะการหลบซ่อนย่อมไม่เป็นผลดี อีกทั้งตอนนี้ยังไม่ได้มีรายใดเป็นผู้กระทำถูกหรือผิด เพียงแต่ต้องมีการอธิบายถึงสถานะของพวกเขากับการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจขนาดใหญ่แบบนั้น นอกจากนี้ ในเรื่องของการขยายผลไปดูฐานการฟอกเงินนั้น อันดับแรก หากจะมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน จะต้องมีความผิดมูลฐานปรากฏก่อน ยกตัวอย่างหากมีประเด็นเรื่องคดีฮั้วประมูลเกิดขึ้น ก็จะขยายฐานความผิดเรื่องฟอกเงินได้ เป็นต้น หรือปรากฏตาม 28 ประเภทความผิดกฎหมายฟอกเงิน
พ.ต.ต.วรณัน เผยถึงความคืบหน้าเรื่องการเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะปรึกษาคดีพิเศษ โดยมติของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ว่า สำหรับคณะปรึกษาคดีพิเศษ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา รวม 6 ราย ประกอบด้วย
1. ที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบสวนและการฟ้องคดี คือ นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ ผู้ตรวจการอัยการ และ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานสูงสุด
2. ที่ปรึกษาคดีพิเศษ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนคดีพิเศษ คือ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
3. ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี คือ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้สอบบัญชีสรรพากร
4. ที่ปรึกษาคดีพิเศษที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) - Anti-Corruption Organization of Thailand คือ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างวิศวกรโยธา
5. ดร.ธเนศ ศรีศิริโรจนากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างวิศวกรปฐพี เพื่อร่วมทำการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษในทุกมิติ
Advertisement