(30 เม.ย. 2568) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2568 ที่ จ.นครพนม ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ "โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม" ตามที่กระทรวง อว. เสนอ เพื่อให้เป็นสถาบันการผลิตแพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง สามารถผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพรองงรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้
รมว.อว. กล่าวต่อว่า โครงการนี้มหาวิทยาลัยนครพนมจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ.2570 - 2579) ในวงเงินงบประมาณ 2,398,484,400 บาท ซึ่งจะมีการจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต บรรจุอาจารย์แพทย์ อาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องและบุคลากรสายสนับสนุนให้พร้อมดำเนินการคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ตามกรอบอัตรากำลังที่เสนอขอ พัฒนาอาจารย์และบุคลากรให้มีความพร้อมและมีสมรรถนะตามมาตรฐานวิชาชีพ ก่อสร้างอาคารเรียน หอพักนักศึกษาแพทย์ อาคารชุดพักอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ และอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 3 แห่ง ที่โรงพยาบาลนครพนม โรงพยาบาลยโสธร และโรงพยาบาลเลย รวมถึงการขอรับรองหลักสูตรและสถาบันจากแพทยสภาและสถาบัน IMEAc
"ในการเทียบสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรทั่วประเทศไทย ในปี 2567 พบว่า มีจำนวนแพทย์ในประเทศทั้งหมด 72,523 คน มีประชากรทั้งหมด 65,951,210 คน มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรเท่ากับ 1 ต่อ 909 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนแพทย์เท่ากับ 34,715 คน ส่วนต่างจังหวัดมีแพทย์รวมแล้วจำนวนเท่ากับ 37,808 คนเท่านั้น ทำให้ต่างจังหวัดยังขาดแคลนแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน "โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม" จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างมาก เพื่อผลิตแพทย์ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนแล้วกลับมาทำงานในพื้นที่ที่มีความขาดแคลน ซึ่งเราตั้งเป้าว่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 36 คน ในปีการศึกษา 2571 นี้" น.ส.ศุภมาส กล่าว
Advertisement