วันนี้ (13 เม.ย. 68) เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 แถลงข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ประสานทุกจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กำชับจังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดและไม่จำหน่ายให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด จัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงใช้กลไกพื้นที่อย่างด่านชุมชนและหน่วยเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ตรวจตรา และป้องปรามผู้ทำพฤติกรรมเสี่ยงก่อนออกนอกพื้นที่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนเตรียมพร้อมการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุให้พร้อมออกปฏิบัติงานทันที สามารถประสานการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ประสบเหตุได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของจังหวัด
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 เป็นวันที่สอง ซึ่งจากสถิติสะสม 2 วัน ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสองอันดับแรกคือการขับรถเร็วเกินกำหนดและการดื่มแล้วขับ จึงขอให้จังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 12 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2568 เกิดอุบัติเหตุ 248 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 257 คน ผู้เสียชีวิต 30 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.92 ดื่มแล้วขับ 22.18 และตัดหน้ากระชั้นชิด 20.97 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.77 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.87 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.32 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.87 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 11.29 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 – 18.00 น. เวลา 18.01 – 21.00 น. และเวลา 06.01-09.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 19.86 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,689 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหารและลำพูน (จังหวัดละ 13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน – 12 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 460 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 458 คน ผู้เสียชีวิต รวม 59 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 44 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (25 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (9 ราย)
Advertisement