จากกรณีที่ "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" โพสต์เฟซบุ๊กประกาศชวนคนสวมเสื้อเหลือง-ชมพู แสดงพลังปกป้องสถาบัน ที่วัดพระแก้ว เวลา 16.00 น. ในวันที่ 1 พ.ย. 63
วันที่ 28 ต.ค. 63 ดร.รัตนา สมสกุลรุ่งเรือง ประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู พร้อมด้วย คุณสกาวรัตน์ สมสกุลรุ่งเรือง เลขาธิการมูลนิธิร่วมกตัญญู, นายเอกพัน บรรลือฤทธิ์, นายอธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, เจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูจากทั่วประเทศ ร่วมเดินทางมาที่วัดโพธิ์วิเวก บ้านปะ ม.16 ต.จอมพระ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ เพื่อร่วมถวายกฐินหลังออกพรรษาประจำปี 2563
นายเอกพัน บันลือฤทธิ์ หรือ ไทด์ กล่าวว่า วันนี้เห็นชาวบ้านมาร่วมงานบุญก็รู้สึกชื่นใจ พวกเราคือพุทธศาสนิกชนในพระพุทธศาสนา ซึ่งในช่วงนี้ก็จะมีการทอดกฐิน ทางมูลนิธิร่วมกตัญญูของเรา รับเป็นเจ้าภาพกฐินอยู่แล้วทุก ๆ ปีกับวัดหลายแห่ง และเมื่อเห็นชาวบ้านที่มากันในวันนี้ ตั้งแต่ลงรถมาแล้วก็มาขอถ่ายรูป พวกเขาอาจจะยังไม่ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นปกติอยู่แล้วที่เมื่อไปที่ไหน ก็จะมีชาวบ้านมาให้กำลังใจ มาชื่นชมจากการที่เรา 2 คนพี่น้อง กับ "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" และไม่ว่าเรา 2 คนไปจังหวัดไหน อำเภอไหน ชาวบ้านก็มักจะมาให้ความชื่นชมเสมอ
ส่วนสภาพจริงใจของบิณฑ์ ตอนนี้ดีมาก ไม่มีความกังวลใด ๆ ซึ่งในตอนแรกพวกตนก็กังวลว่าเขาจะเป็นอย่างไร แต่พอได้วิดีโอคอลคุยกัน ก็เห็นบิณฑ์ออกกำลังกายสนุกสนานเฮฮาอยู่กับคุณแม่ หอมกอดคุณแม่ อยู่กับครอบครัว สำหรับสิ่งที่บิณฑ์ทำคือสิ่งที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่คนไทยพึงกระทำอย่างที่สุด เป็นคนไทยรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่อยากให้มีอใครมาจับต้องหรือจาบจ้วง และอย่าลืมวันที่ 1 พ.ย. 63 นี้ ที่วัดพระแก้ว หรือศาลหลักเมือง ท้องสนามหลวง ไปเจอกันให้ได้มากที่สุด
ขณะที่ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ไลฟ์เฟซบุ๊กพูดถึงกระแสที่ถูกโจมตี ถามกลับว่า การที่ตัวเองออกมาปกป้องสถาบันเป็นเรื่องความผิดร้ายแรงมากเลยหรือ ถึงขนาดต้องมาด่า มาโจมตีมากมาย ผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่เทิดทูนสถาบัน คงไม่ใช่ผมคนเดียว ยังมีพี่น้องประชาชนอีกหลาย 10 ล้านคน
คุณบิณฑ์ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าจะโกรธผมเรื่องที่ตบเด็กที่เป็นคนที่ชูนิ้วกลาง ผมไม่ว่าอะไร โกรธผมได้ แล้วถ้าผมถามกลับว่าหากคุณอยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้น คุณก็ต้องทำอย่างผม คุณก็ต้องโมโหอย่างผม แต่ผมเพียงแต่พูดด้วยความโมโหไปในวันนั้น แต่นิสัยผมจริง ๆ ผมจะทำอย่างนั้นเหรอ ซึ่งน้องจะชู 3 นิ้วเพื่ออนาคตของน้อง หรือเพื่อจะไล่รัฐบาล เพื่อจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญก็แล้วแต่ น้องทำไปเลยพี่สนับสนุน
ทีมข่าวเดินทางมาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว โดยเป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะเข้ามารอรับเสด็จ บริเวณหน้าศาลหลักเมือง ฟุตพาทหน้าศาลฎีกา และหน้าวัง บรรจุคนได้มากกว่า 1,000 คน
จากการสอบถาม นายเอก พ่อค้าขายขนมจีบ เปิดเผยว่า ตนทราบว่าในวันที่ 1 พ.ย. จะมีการรับเสด็จ แต่ยังไม่ทราบพิกัดที่แน่ชัด ทั้งนี้ หากมีการชุมรุมจริง ตนก็จะเข้าไปขายแถวนั้น เนื่องจากวันที่มีการชุมนุมจะขายดี ทำให้ของหมดเร็ว และบางครั้งมีคนมาเหมาของไปแจกเป็นจำนวนมาก ส่วนตัวเคยไปขายของในจุดที่ชุมนุมมาแล้วทุกที่ ไปมาตั้งแต่ปี 2548 และล่าสุดไปขายของที่บริเวณราชประสงค์ ซึ่งวันนั้นได้กำไรถึง 2,000 บาท สำหรับตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และไม่ขอเลือกข้างว่าอยู่ฝ่ายไหน เพราะตนไปขายของเท่านั้น
นายฉัตรชัย พ่อค้าขายลูกชิ้นทอด เปิดเผยว่า ตนทราบเรื่องการชุมนุมจากในเฟซบุ๊ก และหากมีการชุมนุมจริง ตนก็ไปขายของอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ขายได้ดีกว่าปกติ ส่วนกำไรขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่เข้ามาชุมนุม
ล่าสุด กลายเป็นประเด็นดราม่าหลัง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ประกาศลาออกจากการเป็นอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูว่า การที่สังคมทวงถามถึงยอดเงินบริจาคน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2562 พร้อมเปิดเผยกองเอกสารหลักฐานการรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 6 จังหวัดภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม จ.ขอนแก่น ซึ่งถูกเก็บไว้ในแฟ้มอย่างดี และบรรจุใส่ไว้ในลังพาสติกกว่า 50 ลัง
บิณฑ์ เปิดเผยว่า หากใครจะตรวจสอบ ยินดีให้มาเอาไปตรวจสอบทั้งหมด และต้องนำมาคืน ห้ามหายแม้แต่แผ่นเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องภาคอีสาน เป็นตัวแทนคนไทยทั้งประเทศที่บริจาคเงินผ่านบัญชีตนเองรวม 422 ล้านบาท ตนชี้แจงตลอดว่าช่วยเหลืออะไรบ้าง แม้กะทั่งจัดซื้อเรือกู้ภัย จัดซื้อรถพยาบาล จัดสร้างโรงเรียน ทุกบาททุกสตางค์สามารถตรวจสอบได้ และตนเองยืนยันว่าไม่เคยคิดเอาเข้ากระเป๋าแม้แต่บาท
นอกจากนี้ จุดยืนขิองตนคือปกป้องสถาบัน ยืนยันว่าการออกมาเชิญชวนให้คนไทยที่รักสถาบันออกมาแสดงพลังในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ไม่ใช่เป็นการปลุกระดม แต่เชิญให้มาร่วมกันต้อนรับเสร็จ และแสดงพลังให้พระองค์ท่านเห็นว่านี่คือพลังคนไทยที่รักสถาบัน ไม่มีใครสั่งการ หรืออยู่เบื้องหลังแน่นอน
ส่วนเรื่องประกาศลาออกจากอาสาสมัครนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งหรือถูกกดดันจากองค์กร แต่เพื่อเป็นการแสดงจุดยืน และทำกิจกรรมได้เต็มที่ ตนคิดว่าเพื่อความเป็นอิสระและไม่ให้มีผลกระทบไปถึงองค์กร จึงของลาออกจากการเป็นอาสา ซึ่งหลังจากที่ทำกิจกรรมแล้วเสร็จ ก็จะกลับไปขอสมัครใหม่ เริ่มต้นใหม่ และเข้าพูดคุยกับทางผู้ใหญ่ในมูลนิธิต่อไป
Advertisement