เมื่อวันที่ 20 ก.ค.64 มีรายงานแจ้งว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้เสนอแนวทางการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากข้อมูลการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่รักษาได้ 5,045 คน เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 2,100 คน และเรือนจำกลางบางขวาง 5,231 คน จึงได้ไปศึกษาข้อมูลของฟ้าทะลายโจรเพิ่ม และทราบว่าในฟ้าทะลายโจรมีสารสกัด แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทย ระบุว่า สามารถยับยั้งไวรัสได้ โดยต้องใช้ประมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวัน ใช้ติดต่อกัน 5 วันจะรักษาโควิด-19 ได้
สำหรับสารแอนโดรกราโฟไลด์ จะสกัดจากฟ้าทลายโจร ในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ซึ่งการปลูก 1 ไร่ จะได้ประมาณ 600 กิโลกรัม สามารถสกัดได้ประมาณ 150 กิโลกรัม ทำยาได้ 375,000 แคปซูล หากจะใช้กับคนไทยทั้งประเทศ ต้องใช้ 3,150 ล้านแคปซูล หรือจะต้องปลูกประมาณ 8,400 ไร่ ในส่วนของการนำต้นมาบดหยาบ 600 กิโลกรัม จะได้ประมาณ 1,300,000 แคปซูล
นายสมชาย ลาวัณย์วิสุทธิ์ กลุ่มเกษตรผู้ปลูกสมุนไพร อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เปิดเผยว่า ในกลุ่มมีเกษตรกรทั้งหมด 22 ราย มีพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจรประมาณ 100 ไร่ ทางกลุ่มจะปลูก เก็บเกี่ยว ตากแห้ง แล้วส่งขาย
โดยขายแยกเป็น 2 เกรด คัดตามปริมาณค่าแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจร เกรดโรงงานอุตสาหกรรม ปลูก 3 เดือนครึ่ง – 4 เดือน แล้วเก็บเกี่ยว จะทำให้แอนโดรกราโฟไลด์สูง เกรดร้านค้าทั่วไป ปลูก 5 เดือน แอนโดรกราโฟไลด์จะต่ำ
จากนั้นตากแห้ง 1 วันครึ่ง แล้วส่งขาย ก่อนโควิดจะเข้ามาส่ง 100 ตัน/ปี ตั้งแต่ปี 63 โควิดเริ่มหนัก ส่งขาย 150 ตัน/ปี เดือน ก.ค.64 ส่งไปแล้ว 14 ตัน ราคาขายเทียบช่วงก่อนและหลังโควิด ส่งโรงงานอุตสาหกรรมปี 62 กก.ละ 80-95 บาท ปัจจุบัน กก.ละ 200-400 บาท
ส่งร้านค้าทั่วไป ปี 62 กก.ละ 40 บาท ปัจจุบัน กก.ละ 500 บาท แพงกว่าส่งโรงงาน เพราะโรงงานซื้อเยอะ และต้องทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 1 เดือน เหมือนขายข้าว ตอนนี้มีคนโทรศัพท์มาขอขอซื้อฟ้าทะลายโจรแบบผงเป็นจำนวนมาก เพราะมีทั้งคนป่วยโควิด-19 ร้านขายยาในชุมชน คนที่เดือดร้อน ทางกลุ่มจะขายให้ในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะต้องการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน แต่จะจำกัดจำนวน ส่งให้รายละไม่เกิน 1-2 กก.
ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ลงพื้นที่สำรวจผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ในร้านขายยา ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พบว่าหลายร้านไม่มีวางจำหน่ายแล้ว ส่วนร้านขายส่งบางร้านมียอดขายสูงถึง 1,000 กระปุกต่อวัน ราคาจำหน่ายอยู่ที่กระปุกละ 100-120 บาท และยังคงไม่มีการปรับราคาแต่อย่างใด
น.ส.รัตนวลี โชติวรารัตน์ อายุ 44 ปี พนักงานขายยา ร้านห้างขายยาเคียมฮั่วตึ๊ง ระบุว่า ฟ้าทะลายโจรกำลังเป็นที่ต้องการของประชาชน จำหน่ายหมดทุกวัน จนไม่เหลือสต็อก อีกสิ่งที่ประชาชนต้องการมากในขณะนี้คือกระชายขาว ซึ่งของมีไม่เพียงพอกับความต้องการเช่นกัน เพราะขณะนี้บริษัทผลิตสินค้าไม่ทัน ซึ่งทุก ๆ วันนี้มีลูกค้ามาถามหาซื้อเฉลี่ยวันละ 80 - 100 คนต่อวัน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางร้านได้ติดต่อไปยังศูนย์การแพทย์ ในเรื่องการจัดส่งยาฟ้าทะลายโจร และกระชายขาว ซึ่งจะส่งมาถึงร้านระหว่างช่วงไหน ก็ยังไม่ทราบ แต่ราคายังคงไว้ในจำนวนเดิม หากเป็นแบบกล่องแคปซูล บรรจุ 20 เม็ด ซึ่งเป็นสูตรเข้มข้น อยู่ในราคา 80 บาท ถ้าเป็นกระปุกแคปซูล บรรจุ 30 เม็ด อยู่ในราคา 120 บาท
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้ไลฟ์สด “SONDHI TALK” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ระบุว่า “วันนี้ (20-7-64) อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้ลงพื้นที่วัดสะพาน ชุมชนคลองเตย กทม. เพื่อเอาฟ้าทะลายโจรจากมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน ที่ทุกท่านได้ร่วมบริจาคไปมอบให้ทางวัด เพื่อเเจกจ่ายคนที่ติดเชื้อเเละกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในชุมชน ส่วนชุมชนอื่น ๆ ที่มีผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ส่งข้อมูลเข้ามาที่ข้อความส่วนตัวนะครับ #ปฏิวัติประเทศไทยด้วยฟ้าทะลายโจร
วันนี้ส่งฟ้าทะลายโจร ไปให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเเละชุมชนต่าง ๆ รวมถึงโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศเรียบร้อยครับ คนที่ได้รับการติดต่อไว้รอรับนะครับ ทางทีมงานจะรีบส่งไปให้ถึงที่บ้านหรือชุมชนต่าง ๆ ให้ไวที่สุด เราต้องจับมือกันไว้เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ใครป่วยหรือพบเจอคนป่วยที่ในชุมชน ในหมู่บ้าน หรือในชุมชนมีผู้ติดเชื้อ เเจ้งเข้ามาทางข้อความนะครับ”
นอกจากนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้โพสต์เฟซบุ๊กผ่าน @สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ระบุว่า "รอตรวจ รอเตียง อย่ารอตาย สู้โควิดด้วยฟ้าทะลายโจรอย่างถูกวิธี หลักการสำคัญของการรับมือกับโรคระบาดคือ
ก) การป้องกันไม่ให้ป่วย
ข) การควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด
ค) การรักษาโรคที่ได้ผล
เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และทะลวงฝ่าวัคซีนทุกชนิดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในประเทศต่างๆ
สิ่งที่ตามมาคือ ถ้าประเทศใดมีการฉีดวัคซีนของกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว) ในอัตราต่ำ ผู้ป่วยหนักจะมีจำนวนมาก เตียงรองรับไม่ทัน มีผู้ป่วยตกค้างรอเตียงและกว่าที่จะเข้าสู่ระบบการรักษาได้ อาการก็ทรุดหนักและเสียชีวิตในเวลาอันสั้น ในทางกลับกันถ้าประเทศใดมีการฉีดวัคซีนของกลุ่มเสี่ยงในอัตราสูง แม้มีผู้ป่วยใหม่รายวันมาก แต่ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจะมีจำนวนน้อย ไม่มีปัญหาเรื่องเตียงรองรับการรักษา
ดังนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของการสู้โควิดจึงไม่ใช่อยู่ที่การกดจำนวน "ผู้ป่วยใหม่" แต่คือการกดจำนวน "ผู้ป่วยหนัก" เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลได้รวดเร็วและทั่วถึง จนมีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เฉกเช่นเดียวกับที่เราไม่สนใจมากนักกับตัวเลขผู้ป่วยรายวันของโรคประจำถิ่น อย่าง ไข้หวัดใหญ่หรือโรคหัด เพราะอัตราตายต่ำมาก ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจากโควิดมีจำนวนน้อย เราก็จะไม่จำเป็นเฝ้าระวังตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวันของโควิดอีก
ถึงวันนี้ เราต้องยอมรับแล้วว่า การตั้งรับด้วยมาตรการส่วนบุคคลทำไม่ได้ 100% (ทำไม่ได้ทุกคนและทุกเวลา) การปิดประเทศไม่สามารถทำได้ตลอดไป ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็ไม่ยาวนานและอาจต้องมีการฉีดต่อเนื่องทุกปี ยิ่งมีการกลายพันธุ์ของโควิด วัคซีนยิ่งมีประสิทธิภาพลดลง และต้องพัฒนาวัคซีน generation ต่อไปไม่สิ้นสุดเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ส่วนการควบคุมโรคโดยการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ (Regular Testing) การติดตามผู้สัมผัส (Tracing) และการแยกกักตัว (Isolation) นั้นทำได้ไม่ยากหากทุ่มเทสรรพกำลัง แต่เมื่อทำซ้ำๆเช่นนี้ไปอีก 2-3 ปี ทั้งสังคมจะอ่อนล้ามาก
ทางออกที่แท้จริงของการสู้โควิดคือ ต้องหายากินเพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนของไวรัสตั้งแต่ระยะแรกที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่ให้ไวรัสมีปริมาณมากจนลงไปที่ปอด แล้วทำให้ผู้ป่วยอาการหนักจนเสียชีวิต ปัจจุบัน ยากินหลายชนิดที่กำลังวิจัยในระยะที่ 3 เช่น Molnupiravir ก็มีแนวคิดเช่นนี้ แต่ต้องกินทันทีหลังรับเชื้อ เมื่ออาการหนักแล้วยาจะไม่ได้ผล
ถึงวันนี้ที่มี “ผู้ป่วยวันละหมื่น ผู้เสียชีวิตวันละร้อย” ประชาชนรอตรวจและรอเตียงอย่างสิ้นหวัง ผมคิดว่า แทนที่จะรอความตาย เราต้องหาทางแก้ไขด้วยการให้ความสำคัญกับยาฟ้าทะลายโจรอย่างจริงจังเสียที
ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีงานวิจัยเรื่องการใช้ Andrographolide ซึ่งเป็นสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาโควิดในคนด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่เข้มงวดแบบ Randomised Control Trial มาก่อน (แต่มีรายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพของ Andrographolide ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสได้ดีกว่ายาต้านไวรัสหลายชนิดเช่น Lopinavir, Ostelmivir และ Ritonavir จากการคำนวณโครงสร้างของโมเลกุล - in silico และทั้งผลลัพธ์จากการวิจัยในห้องทดลอง - in vitro)
ขณะที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ประกาศ เรื่อง สถานการณ์การผลิตและกระจายฟ้าทะลายโจร อภัยภูเบศร ขณะนี้เรายังคงดำเนินการผลิตและกระจายยาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากความต้องการและความจำเป็นที่ต้องใช้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ยาฟ้าทะลายโจรอภัยภูเบศรที่มีสำรองลดน้อยลง แต่ก็ยังคงเร่งผลิตเพื่อให้ทันความต้องการของพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์นี้หลายท่านอาจเข้าถึงยาลำบาก รอคิวนาน ขอให้ท่านใจเย็น เนื่องจากมีการแจ้งความต้องการเข้ามาจำนวนมาก เจ้าหน้าที่เรากำลังเร่งดำเนินการ และขอความร่วมมือ อย่าได้กักตุน ขายเกินราคา อยากให้เห็นใจและแบ่งปัน แล้วเราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน
ด้านเกษตรกรผู้ปลูกกระชาย ในพื้นที่หมู่ 10 บ้านเขาสิงโต ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี กำลังช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขายให้กับพ่อค้าที่เดินทางมารอซื้อกระชายสดถึงไร่ ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นนาทีทองของเกษตรกรผู้ปลูกกระชายอย่างแท้จริง เนื่องจากราคารับซื้อกระชายสดถึงที่ไร่ของเกษตรกรในขณะนี้ มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 105 บาท เป็นราคาสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
นางบังอร ชื่นชวน เกษตรกร กล่าวว่า แต่ก่อนราคากระชายเคยอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ก่อนจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาช่วงเดือนเม.ย.64 ไปแตะที่ราคากิโลกรัมละ 45-50 บาท กระทั่งมีผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลเกี่ยวกับการใช้กระชายช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ราคากระชายปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กิโลกรัมละ 105 บาท คาดว่าน่าจะไม่สูงขึ้นกว่านี้แล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงสุดในรอบหลายปี ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกระชายสามารถลืมตาอ้าปากได้
สำหรับพื้นที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ถือเป็นแหล่งผลิตกระชายที่มีคุณภาพดีติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกระชายที่นี่มีการรวมกลุ่มกันทำการเกษตรปลูกกระชายแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันประมาณ 80 ราย เนื้อที่ปลูกกระชายรวมกว่า 480 ไร่ ผลผลิตการปลูกกระชายต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 4,000-6,000 กิโลกรัม
ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางไปยังวัดสะพาน เขตคลองเตย ซึ่งได้จัดตั้งอาคารปฎิบัติธรรมสูง 8 ชั้น เป็นจุดพักคอยชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.64 ที่ผ่านมา สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 ในชุมชนคลองเตย 30-45 ชุมชน ที่มีผลการตรวจแบบ RT-PCR และยังรอเตียงรักษาจากสถานพยาบาลต่าง ๆ
พระพิศาลธรรมานุสิฐ์ เจ้าอาวาสวัดสะพาน กล่าวว่า ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามารักษาตัวที่นี่ประมาณ 50-80 คน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ตึก คือ ตึกใน สำหรับผู้ป่วยใหม่ ปัจจุบันมีผู้ป่วย 280 กว่าคน และตึกนอก สำหรับผู้ที่อาการดีขึ้น เชื้อตาย กักตัวใกล้ครบกำหนด เกือบ 60 คน ดังนั้นตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.64 ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยย้ายเข้า-ย้ายออกอยู่ที่ประมาณกว่า 5,000 คน
โดยสถานที่แห่งนี้ เดิมทีถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อผู้ป่วยที่อยู่ในเขตครองเตยเท่านั้น แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเยอะมากขึ้น จึงอาจมีการอนุโลมให้ผู้ป่วยในเขตอื่น ๆ ที่มีญาติอยู่ในเขตคลองเตยเข้ามากักตัวได้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย
วันนี้ แคปซูลฟ้าทะลายโจรที่ “อ.ปานเทพ” นำมาบริจาคทั้งหมด 800 กระปุก ซึ่งทางวัดจะมีการแบ่งออกไปทำเป็นยาสามัญประจำบ้านเป็นชุด ๆ ร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อนำไปให้กับผู้ป่วย 3 แห่งด้วยกัน คือ บนตึกทั้ง 2 ตึก รวมถึงนำไปใส่ในถุงยังชีพให้กับผู้ป่วยที่รักษาตัวในบ้าน เขตตลองเตย ประมาณ 100 กว่าคน และหากเหลือก็จะนำไปบริจาคให้กับชาวบ้านในเขตคลองเตย
สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนและญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา ที่เข้ามาบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ป่วย ถือว่าปัจจุบันยังไม่เกิดปัญหาขาดแคลนปัจจัยใด ๆ แต่ถ้าถามว่าแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร อาตมาประเมินค่าไม่ได้จริง ๆ เพราะเมื่อวัดได้รับบริจาคมา ก็นำไปเป็นค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ทันที
ในขณะเดียวกันทางวัด ก็ยังรับเผาศพผู้ป่วยโควิด-19 โดยตั้งแต่เดือนเม.ย.64 เผาไปแล้วทั้งหมดเกือบ 160 ศพ ซึ่งการรับเผาศพจะแบ่งเป็น 2 กรณี 1.เผาแบบมีค่าใช้จ่าย ตอนนี้มีประมาณเกือบ 60 ศพ คือ ทางครอบครัวผู้ตายก็จะจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งเชื้อเพลิง เจ้าหน้าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอื่น ๆ ให้กับทางวัดเอง ก็จะตกอยู่ที่ประมาณศพละ 3,000-3,500 บาท และ 2.เผาสงเคราะห์ ตอนนี้มีประมาณเกือบ 100 ศพ ซึ่งในกรณีนี้ทางวัดจะดูแลค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่อยากจะร่วมบริจาค ทำบุญกับทางวัดก็สามารถเดินทางไปบริจาคด้วยตนเองที่ วัดสะพาน คลองเตย หรือโทรไปที่หมายเลข 089 8870069
Advertisement