นักวิจัย เตือนสีทองทาโบสถ์ หายนะของโบราณสถาน แนะขออนุญาตกรมศิลป์ก่อนบูรณะ

25 ต.ค. 61
หลังจากผู้ผลิตสี บริษัทเอกชน โพสต์ภาพโฆษณา เป็นรูปภาพบนวิหาร ที่มีลักษณะโค้งเหมือนท้องเรือสำเภา เรียกว่า "โบสถ์มหาอุต" ของวัดโพธาราม ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ถูกทาด้วยสีทองทั้งหลัง ซึ่งพบว่าเกิดจากกลุ่มอาสาสมัคร "คนร่วมทาง" บูรณะวิหารอายุกว่า 100 ปี เมื่อ 2-3 ปีก่อน และได้โพสต์ภาพเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ขณะที่ อธิบดีกรมศิลปากร สั่งการให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศ ระดมเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบข้อมูลโบราณสถานที่อยู่ระหว่างการบูรณะทั่วประเทศ พร้อมแจ้งวัดทั่วประเทศ อย่าทาสีโบราณสถาน หากไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน
ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อ.คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ผู้วิจัยสีไทย
วันที่ 25 ต.ค. 61 ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้วิจัยสีไทยโทน แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า โดยส่วนตัวมองว่าการกระทำของกลุ่มบุคคลที่ต้องการจะบูรณะโบราณสถาน ให้กลับมาเหมือนใหม่ดังเดิม มาจากเจตนาที่ดี แต่ขาดความรู้ที่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปเป็นการทำลายโบราณสถาน ทำลายความงามแบบไทยไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการทาสีทองในลักษณะนี้ หรือเรียกว่าสี "บลอนซ์ทอง" ไม่ถูกต้อง ทั้งตามหลักการบูรณะ และหลักการใช้สีในศาสนสถาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อโบราณสถานในอนาคต
วัดโพธาราม ถูกบูรณะด้วยการทาสี
ทั้งนี้ แม้ว่าในความเชื่อของคนไทย สีทองเป็นสีที่สูงค่า มีความหมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ แต่หากจะใช้สีทองในโบราณสถาน จะใช้ในจุดที่มีความสำคัญของอาคาร และใช้ในจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น อย่างเช่น ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ โดยมักใช้สีทองจากวัสดุต่าง ๆ แทนการทาสีทองโดยตรง เช่น การติดทองคำเปลว, การใช้สีทองจากกระจก หรือ ใช้เซรามิกโมเสกสีทอง ซึ่งโดยปกติแล้ว การบูรณะโบราณสถาน จะใช้สีฝุ่นและเลือกใช้สีที่ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด เพราะการบูรณะ คือการคงไว้ ไม่ใช่การทำใหม่
การบูรณะศาสนโบราณ ด้วยการทาสี
นอกจากนี้ สีบลอนด์ทองที่นำมาใช้ เป็นสีที่ใช้ทาภายใน เมื่อทาไปแล้ว จะส่งผลต่อโครงสร้างของอาคาร เพราะเป็นการทาเคลือบทับ ทำให้ไม่สามารถระบายอากาศได้ ซึ่งมีผลต่อความชื้น และทำให้โครงสร้างโบราณสถานมีปัญหาในระยะยาวด้วย สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ หากมีการเลียนแบบ และมีการทาสีบลอนด์ทองลงไปบนโบราณสถานโดยทั่วไปเพิ่มมากยิ่งขึ้น จะก่อให้เกิดความหายนะ ต่อโบราณสถานครั้งใหญ่ของประเทศไทย
วัดที่ถูกบูรณะด้วยการทาสี
ทั้งนี้ กรมศิลปากร ในฐานะผู้รับผิดชอบโบราณสถาน ควรที่จะออกมาทำความเข้าใจ และชี้แจงในแนวทางที่ถูกต้อง ส่วนวัดต่าง ๆ ที่ต้องการจะปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน ก็ควรที่จะหารือกับผู้เชี่ยวชาญหรือนักโบราณคดี ส่วนโบราณสถาน ที่ได้มีการลงทะเบียนไว้แล้ว ควรจะต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากรก่อนการบูรณะ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ