กรณีโลกออนไลน์แชร์เพลง “ครางชื่ออ้ายแน” และมีการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต ฉายภาพคล้ายการมีเพศสัมพันธ์นั้น นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิชย์ นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข บอกว่า ไม่เหมาะสม ส่วนเนื้อหาขอเพลง ที่ใช้สำเนียง น้ำเสียงการร้องครวญคราง เวลาที่มีความรู้สึกในเรื่องของเซ็กซ์ ซึ่งเป็นที่รโหฐานสำหรับบุคคลสองคนนั้น ผู้ผลิตควรทบทวนและแก้ไข (อ่าน :
"เจ๊เบียบ" ออกโรงฉะ "เพลงครางชื่ออ้ายแน" ฉายภาพติดเรตบนเวที)
วันที่ 26 ต.ค. 61
นายบิ๊กวัน กันทรลักษณ์ หรือ อ.งัวน้อย ศิลปินผู้แต่งคำร้องและทำนอง ชี้แจงผ่าน รายการต่างคนต่างคิด ตอน "ครางชื่ออ้ายแน" เพลงทำลายวงการ ? ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น. ว่า ตนเขียนเพลงมาก็หลายเพลง หลายค่าย มีแต่เพลงนี้เท่านั้นที่มีปัญหา โดยทางค่ายเริ่มปล่อยเพลงออกมาตั้งแต่เดือน พ.ค. และปล่อยวิดีโอเพลงช่วงเดือน มิ.ย. ส่วนที่มีปัญหานั้น อาจจะด้วยแนวเพลงที่เป็นลำซิ่ง จึงต้องมีเนื้อหาลามกบ้าง
ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า แต่งเพลงนี้ด้วยความสนุกสนานเท่านั้น เพราะเนื้อเพลงเป็นเรื่องราวของแฟนหนุ่มที่ผิดหวังในความรัก และหวังให้แฟนสาว ซึ่งไปแต่งงานใหม่นั้น ครางชื่อของตัวเองออกมา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความจริง จึงต้องการให้สังคมมองเป็นมุมตลกขำขันมากกว่า
สุดท้ายนี้ ตนอยากให้สังคมแยกแยะ เรื่องความสนุกกับเรื่องเพศ มองให้เป็นงานศิลปะ ซึ่งเป็นงานศิลปะแห่งความสนุก และหากจะมาว่าตนทำลายวงการเพลงลูกทุ่งนั้น ก็คงจะไม่ใช่ และสุดท้าย ตนขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้มีเจตนาจะให้สื่อในเรื่องเพศขนาดนั้น
ขณะที่
ครูชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เรื่องที่ตนติเตียนไปนั้น ที่บอกว่าเป็นเพลงที่อุบาทว์ ยังถือว่าเบาไปด้วยซ้ำ เพราะภาพและเสียงที่แสดงออกมา ก็สามารถบอกอะไรได้หลาย ๆ อย่าง การกระทำของคนนั้นบอกเจตนาเสมอ นอกจากนี้ ตนคิดว่าหากจะอ้างว่าเป็นเรื่องความสนุกหรือเรื่องล้อเล่น แต่เรื่องวัฒนธรรมไทยนั้น ไม่สามารถนำไปล้อเล่น หรือทำสนุกได้ เพลงทุกเพลงบนโลกก็ทำมาเพื่อความสนุกสนานเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้มีเนื้อหาขนาดเพลงดังกล่าว ทั้งนี้ ตนไม่ได้ตั้งใจจะเจาะจงว่าเพลงดังกล่าวเท่านั้น เพราะเพลงอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ตนก็ออกมาติเตียน เพียงแต่เสียงไม่ดังเท่านั้น
ด้าน
นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิชย์ นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข แสดงความคิดเห็นทางโทรศัพท์ว่า การแต่งเพลงนั้น พฤติกรรมแสดงเจตนาขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้แต่งผู้ร้อง หากจิตใจคิดอย่างไร ก็กระทำออกมาแบบนั้น ซึ่งหากจิตใจสร้างสรรค์ ก็คงไม่มีผลงานแบบนี้ออกมา เนื้อร้องของเพลงอาจจะไม่น่าเกลียด แต่คำว่าลามก กับงานศิลปะ ก็มีเส้นสีเทา ๆ ขั้นอยู่ ซึ่งวิดีโอและการแสดงประกอบ ก็เป็นส่วนที่ทำให้เพลงขายได้ ซึ่งผู้จัดทำอ้างเรื่องความสนุกสนาน แต่ตนไม่เห็นว่าจะมีใครสนุกด้วย ผู้แต่งเพลงนี้ ไม่นึกถึงเยาวชนบ้างหรือ
ทั้งนี้ เรื่องดาราออกมาเต้นตามเพลงดังกล่าวนั้น ตนมองว่าเป็นการเกาะกระแสมากกว่า ดารากลุ่มดังกล่าว อาจไม่ได้คำนึงถึงเรื่องศีลธรรมเท่าที่ควร
นายศรีจันทร์ วีสี ศิลปินและนักร้องนำ กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นกระแส ตนขอน้อมรับคำติชมทั้งหมด แต่ตนต้องการให้สังคมมองไปที่เรื่องความสนุกสนานมากกว่า เพราะตนก็ไม่ได้มีเจตนามุ่งไปที่เรื่องลามกตั้งแต่แรก ตนมองว่าที่เรื่องเพลง ครางชื่ออ้ายแน โด่งดังขึ้นมาอาจจะเพราะช่วงนี้เป็นฤดูกาลของหมอลำซิ่ง เข้ามาเสริม ส่วนเรื่องที่ว่าจะให้ตนหยุดร้องเพลงนั้น คงจะไม่หยุด เพราะตนตั้งใจจะสื่อไปที่เรื่องความสนุกสนาน
นางสาวเพ็ญนภา แนบชิด หรือ ต้าร์ นักร้อง กล่าวว่า เรื่องท่อนเพลงเสียงครางที่มีปัญหานั้น เป็นการครางตามจังหวะเพลง ตามเมโลดี้ ไม่ได้มีครางด้วยจินตนาการถึงเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด ตนยืนยันว่า การร้องครางนั้น ไม่ใช่แค่ร้องครางอุ๊อิ๊ แล้วก็จบกันไป เพราะท่อนดังกล่าว ใช้เวลาอัดเพลงถึง 2 ชั่วโมง ขณะที่อัดเพลงไป ตนก็ยังรู้สึกเขินอาย และรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก
ทั้งนี้ หลังเกิดกระแสดังกล่าวขึ้นก็รู้สึกเสียใจ ทั้งที่ตนตั้งใจสร้างสรรค์ผลงาน และทีมงานไม่ได้มีเจตนาจะตั้งใจสื่อไปในเรื่องเพศขนาดนั้น ย้ำว่าเป็นการสื่อถึงความสนุกสนานเวลาร้องสดหน้าเวทีมากกว่า ส่วนเรื่องที่ใครบอกว่าเยาวชนจะเอานำไปร้องตามนั้น ตนคิดว่าเด็กอาจไม่ได้มีอารมณ์จะร้องครางเป็นเรื่องเพศขนาดนั้นเช่นกัน
นอกจากนี้
นางสาวเพ็ญนภา ให้สัมภาษณ์หลังจบรายการต่างคนต่างคิดว่า ตนขอกราบขอโทษ ครูเพลง สังคม และวงการเพลง ที่ผลงานเพลงนี้ทำให้เสื่อมเสีย แต่ผลงานเพลงลูกทุ่งอื่น ๆ ก็ยังมีเนื้อหาสาระที่ดีงาม ก็อยากให้มองเพลงของเราไปในทางสนุกสนาน เฮฮา และอย่าไปคิดมาก จริง ๆ แล้วพวกเราไม่ได้ตั้งใจจะสื่อถึงเรื่องแบบนี้จริง ๆ เพราะต้องการมุ่งเน้นไปถึงเรื่องสนุกสนานมากกว่า
ล่าสุด
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ข้อมูลว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ออกหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังบริษัทต้นสังกัดเพลง และทางเจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัล ให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพื่อให้ลบเพลงดังกล่าวออกจากสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ว่ากรณีนี้ผิดหรือไม่ เบื้องต้น ก็ไม่ได้ลามกอนาจาร แต่ยอมรับว่าไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคม