กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน "พายุโซนร้อนไลออนร็อก" ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 08 ตุลาคม 2564
เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (8 ต.ค. 2564) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” แล้ว มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 600 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่ละติจูด 17.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.3 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่ คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564
อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศ ณ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 11.00 น.
สำหรับพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ทั้งนี้เนื่องจาก ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” แล้ว คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2564
กรุงเทพฯ ปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง สตูล ภูเก็ต
Advertisement