มธ.จับมือ เอกชน เจรจานำเข้า ไฟเซอร์-โมเดอร์นา รวม 10 ล้านโดส

15 ต.ค. 64

มธ.เปิดไทม์ไลน์แผนนำเข้ายา-วัคซีน เผยจับมือ เอกชน ลงนามซื้อ ไฟเซอร์-โมเดอร์นา แล้ว 7 ล้านโดส ขอรับบริจาคโมเดอร์นาอีก 3 ล้าน เตรียมสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ อีก 2 แสนเม็ด

จากกรณีที่ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถจัดหา ผลิต ขาย นำเข้า ขออนุญาต-ออกใบอนุญาต ขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้เองนั้น

ล่าสุดวันที่ 14 ต.ค.64 โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการนำเข้ายาและวัคซีน ระบุ เมื่อปลายเดือน ก.ย. ยังได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชน นำเข้าโมเดอร์นา-ไฟเซอร์ อีก 5 ล้านโดส และต้นเดือน ต.ค. ติดต่อสถาบันวัคซีนในยุโรปตะวันออกเพื่อรับบริจาควัคซีนโมเดอร์นาอีก 3 ล้านโดส

นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมการวิจัยเฟส 3 กับ บ.ผู้ผลิตวัคซีนโปรตีนเบสชนิดใหม่ ซึ่งหากขึ้นทะเบียนใช้งานได้ ก็จะมีการร่วมมือกับธุรกิจรายใหญ่ในไทยเพื่อนพเข้าเป็นวัคซีนทางเลือก และ มธ.ยังได้ทำความตกลงร่วมมือกับผู้ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ในอินเดีย เพื่อร่วมทดลองประสิทธิภาพ และสั่งซื้ออีก 2 แสนเม็ด โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่มีการประกาศข้อบังคับมธ.ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบแล้วในราชกิจจานุเบกษา พวกเราได้ดำเนินการในเรื่องการจัดหายา วัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิดในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระหว่างระยะเวลาแปดสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างขะมักเขม้น ในหลายๆ กรณี และขอใช้โอกาสนี้ สรุปคร่าว ๆ ว่า พวกเราได้ช่วยทำอะไรที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและของระบบสาธารณสุข ในการช่วยกันรับมือกับโควิด-19ไปแล้วบ้าง โดยจะนำเฉพาะที่ควรจะบอกเล่าให้ทราบโดยทั่วไปได้ มาสรุปเป็นกรณี ๆ ดังต่อไปนี้

  1. เมื่อต้นเดือนกันยายน เราได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน Moderna จำนวน 2 ล้านโดส มาในประเทศในนาม มธ.โดยเอกชนรายนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อนำวัคซีนมากระจายฉีดแก่ประชาชนโดยผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชน โดย มธ.จะขอรับบริจาค Moderna ในจำนวน 1 แสนโดสจากจำนวนทั้งหมด มาเพื่อใช้ฉีดให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ จากการฉีดวัคซีนในส่วนของ มธ.นี้

  2. ปลายเดือนกันยายน เราได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าวัคซีน mRNA (Moderna และ Pfizer ) จำนวน 5 ล้านโดส เข้ามาในประเทศในนาม มธ.โดยเอกชนรายนี้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเพื่อกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ โดย รพ.ธรรมศาสตร์ก็ยังคงจะได้รับบริจาควัคซีนอีกหลายแสนโดสจากจำนวนนี้ มาเพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ หากสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้สำเร็จ

  3. ต้นเดือนตุลาคม มธ.ได้ติดต่อกับสถาบันวัคซีนของประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศหนึ่ง โดยการประสานของภาคเอกชน ด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกของสถานทูตไทย เพื่อจะขอรับวัคซีน Moderna ในลักษณะการบริจาคให้ มธ.จำนวน 3 ล้านโดส แต่เราจะต้องรับผิดชอบการขนส่ง โลจิสติคส์ การดูแลควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านยูโร และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานและเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่

    ทั้ง 3 กรณีนี้ โดยที่เราตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นของการมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ตุลาคม 64 นี้ทั้งหมด แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า แม้มีความตกลง และมีผู้รับผิดชอบไปดำเนินการติดต่อประสานงานชัดเจนแล้ว เราจะได้รับวัคซีนเข้ามาตามนี้อย่างแน่นอนหรอกนะ เพราะการจัดหาวัคซีนเข้ามาในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องลำบากแสนเข็ญ ถ้าหากทำได้ง่ายๆ จริง ประเทศของเราคงไม่ประสบกับภาวะการขาดแคลนวัคซีนอยู่เช่นนี้หรอก แต่พวกเราเพียงหวังว่า ถ้าความพยายามนี้ของพวกเรา พอจะมีสัมฤทธิ์ผลได้บ้าง แม้เพียงบางส่วน เราก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศ และสามารถช่วยเหลือผู้คนร่วมสังคมได้บ้างตามกำลังของพวกเราเท่านั้น

  4. ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม เราได้ติดต่อเจรจากับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัย ค้นคว้าทดลองและผลิตวัคซีน Protein base ชนิดใหม่ (ที่ไม่ใช่ Novavax ) ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่ 3 และคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลกได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

    โดยธรรมศาสตร์ตกลงจะเข้าร่วมการวิจัยทดลองวัคซีนใน Phase ที่ 3 นี้ด้วย และหากสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้ได้สำเร็จ เราก็จะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ในการจะนำเข้าวัคซีน Protein base ชนิดนี้ เพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดและอย่างกว้างขวางที่สุด ในฐานะที่เป็นวัคซีนทางเลือก เพื่อจะใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามสำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนในต้นปีหน้า

  5. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา Generic name ของ Molnupilavir ในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโควิด ในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมและจะทำ Clinical Trial เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยเราเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในวิจัยทางคลินิกทั้งหมดที่เกิดขึ้น

    ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัย และกำลังรอรับการจัดส่งยาที่จะใช้ในโครงการนี้มายังประเทศไทย โดยเราได้ทำความตกลงเบื้องต้นแล้วที่จะสั่งยาชนิดนี้อีกจำนวน 200,000 เม็ดเพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของเราทันทีที่ FDA ให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อย และได้ผ่านการอนุมัติจาก อย. ของเราเรียบร้อยแล้ว

ทั้ง 5 กรณีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของธรรมศาสตร์ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมธ.ที่ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา ที่พวกเราอยากจะรายงานให้สังคมไทยได้ทราบภายใต้วัตถุประสงค์ประการเดียวของเรา ที่จะทำให้สังคมและผู้คนชาวไทยมีโอกาสและมีทางรอดจากการคุกคามของโควิด-19 ให้ดีที่สุดและมากที่สุด โดยไม่ได้สนใจว่า ภารกิจเหล่านี้มีจะหน่วยงานภาครัฐหน่วยใดดูแลรับผิดชอบดำเนินการอยู่ตามกฎหมายอยู่แล้วหรือไม่ พราะพวกเราเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า พวกเรามีหน้าที่ ที่จะต้องทำต่อไปให้ดีที่สุด และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่จะต้องคิดเอาเองว่าหน้าที่ที่แท้จริงของพวกเราคืออะไร ในสถานการณ์ที่ประเทศและประชาชนถูกคุกคามจากวิกฤติร้ายแรงของโควิด-19 อยู่เช่นนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบังคับ ม.ธรรมศาสตร์ นำเข้า ยา-วัคซีน ได้
- ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมนำเข้า วัคซีน - เวชภัณฑ์ แนวทางเดียวกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
สธ.เผยผลศึกษา โมลนูพิราเวียร์ ยับยั้งโควิดได้ทุกสายพันธุ์ พร้อมเปิดไทม์ไลน์เข้าไทย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ