มาไม้ไหนก็รู้ทัน! เผย มุกยอดฮิต หลอกขโมยข้อมูลออนไลน์

18 ต.ค. 64

ข่าว แฮกข้อมูล ดูดเงิน ออกจากบัญชีธนาคารไปดื้อๆ ทำผวากันไปตามๆ กัน ล่าสุด SCB หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทความเป็นประโยชน์ต่อ ชีวิตยุค 4.0 เผย มุกยอดฮิต ที่เหล่ามิจฉาชีพ ใช้หลอกขโมยข้อมูลออนไลน์

ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยแพร่บทความรู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ โดยระบุว่า วิธีการที่บรรดาแก๊งมิจฉาชีพนิยมใช้ก็คือ การหลอกขอล็อกอิน และรหัสผ่านของเราแบบเนียนๆ โดยจะส่งลิงก์แนบมากับข้อความในอีเมล หรือ SMS แอบอ้างว่าเป็นธนาคารบ้าง สถาบันการเงินบ้าง หรือผู้ให้บริการออนไลน์ต่างๆ บ้าง ด้วยเหตุที่ชื่ออีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ส่ง SMS สามารถตั้งชื่อแอบอ้างกันได้ไม่ยาก จึงทำให้มีคนหลงเชื่อและเผลอให้ข้อมูลผ่านการกดลิงก์ที่แฝงอยู่ในอีเมล หรือ SMS ปลอม เป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าลิงก์ที่ว่าก็คือเครื่องมือในการพาเหยื่อเข้าไปที่เว็บไซต์ปลอมนั่นเอง


เมื่อเราหลงเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม ลองนึกภาพตาม เราก็ต้องพิมพ์ล็อกอิน หรือกรอกข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบ ตอนนี้ละ เจ้าสิ่งที่เราพิมพ์เสร็จ แล้วกดส่งไป ก็จะถูกส่งตรงไปถึงมิจฉาชีพ ได้ข้อมูลเราไปล็อกอิน และทำธุรกรรมต่างๆ แทนเราได้สบายๆ จะเอาผิดใครก็ไม่ได้ เพราะเผลอให้ข้อมูลโจรไปด้วยตัวเองเสียแล้ว

แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะหากเราตั้งสติสักนิดจะเห็นว่าข้อความพวกนี้มีจุดให้สังเกตได้ไม่ยาก โดยหากเราได้รับอีเมล หรือ SMS จากผู้ส่งที่เหมือนจะคุ้นเคยกันดี ส่งมาแจ้งข่าวสารหรือข้อมูลอะไรบางอย่าง เพื่อให้เราอ่านแล้วคลิกไปกรอกข้อมูลที่ต้องใส่รหัสผ่าน หรือ PIN ที่เป็นข้อมูลส่วนตัว ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า อาจเป็นกลลวงของมิจฉาชีพ โดย มุกยอดฮิตที่เหล่ามิจฉาชีพมักใช้กันมีอะไรบ้าง SCB ได้รวบรวมข้อสังเกตไว้ให้แล้ว ดังนี้

1. ข้อความนั้นมักจะไม่ระบุชื่อผู้รับว่าส่งถึงใคร แต่จะระบุกลางๆ เช่น เรียนคุณลูกค้าที่เคารพ เรียนลูกค้าบัตรเครดิต เรียนเจ้าของอีเมล

2. ส่งข้อความมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แทนที่จะส่งมาเป็นภาษาไทยด้วย (เฉพาะกรณีเป็นบริษัทของไทย ติดต่อกับลูกค้าที่เป็นคนไทยด้วยกัน)

3. ส่งข้อความมาเป็นภาษาไทยที่อ่านแล้วมีการใช้ภาษาแปลกๆ

4. อ้างว่าติดต่อทางโทรศัพท์ไม่ได้ เลยต้องส่งอีเมลมาให้คลิกยืนยันตัวตน

5.ข้อความที่ส่งมามักมีเนื้อหาทำให้เกิดความวิตกกังวล อยากรู้อยากเห็น ทำให้ดีใจว่าได้รับรางวัล หรือบอกว่ามีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องให้เรายืนยันตัวตนกลับมา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้งานระบบได้เป็นต้น

6. มีปุ่ม ข้อความ หรือชี่อเว็บไซต์แนบมาในข้อความเพื่อให้คลิก ซึ่งหากใครเจออีเมล หรือ SMS ที่มาพร้อมกับลิงก์รูปแบบต่างๆ ขอให้ตั้งสติไว้ก่อน อย่าเพิ่งใจร้อนคลิกลิงก์ตามเข้าไป หรือหากใครเผลอกดลิงก์เข้าไปก็อย่าให้ข้อมูลใดๆ

กรณีที่เราได้อีเมลแอบอ้างว่าเป็นธนาคาร หรือสถาบันการงิน และไม่แน่ใจว่าอีเมล หรือ SMS ที่ได้รับนั้นเป็นของจริงหรือไม่ แนะนำให้ทำดังนี้

1. อย่าให้ข้อมูลใดๆ หรือหากมีไฟล์แนบมาด้วยก็อย่าคลิกเปิดไฟล์ที่แนบมาเพราะอาจมีไวรัส หรือมัลแวร์แอบแฝงอยู่
เก็บอีเมลนั้นไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ถูกแอบอ้างชื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบและรายงานข้อสงสัย

2. โทรสอบถาม Call Center ของธนาคาร หรือสถาบันการเงินนั้นๆ ว่ามีการส่งข้อความดังกล่าวมาจริงหรือไม่ (กรณีได้รับอีเมลแอบอ้างว่าเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถโทรสอบถามได้ที่ โทร 02-777-7777)

3. ลบอีเมล หรือข้อความที่เราสงสัยทิ้ง หากทราบแน่ชัดแล้วว่าเป็นของปลอม

4. หากเผลอให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ปลอมไป หรือไม่แน่ใจว่าได้มีการให้ข้อมูลไปแล้วหรือไม่ ให้รีบติดต่อธนาคารทันที

เพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ อย่าลืมขั้นตอนต่อไปนี้

1. ติดตั้งโปรแกรมตรวจสอบไวรัส/มัลแวร์ต่างๆ และหมั่นอัพเดท/สแกนตรวจจับไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันรอยรั่วจากระบบรักษาความปลอดภัยของเครื่องเรา

2. อย่าคลิกเปิดไฟล์ หรือดาวน์โหลดไฟล์จากแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ
ควรมีการเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำ เช่นทุก 6 เดือน หรือหนึ่งปี หรือเมื่อไม่แน่ใจว่าเราเผลอไปให้ข้อมูลกับใครหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่

3. ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะในการล็อกอินเข้าทำธุรกรรมออนไลน์

4. จำกัดวงเงินเบิก-ถอน ในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเงินจำนวนมากจากภัยออนไลน์ที่อาจคาดไม่ถึง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้เสียหายถูก แฮกข้อมูล ดูดเงินในบัญชีธนาคารจำนวนมาก ตำรวจเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ธปท. - ส.ธนาคาร พบสาเหตุแล้ว บัตรเครดิต บัตรเดบิต มียอดใช้จ่ายโดยที่ลูกค้าไม่ได้ทำธุรกรรมเอง
- เตือนภัย! หลาย บัญชีธนาคารโดนแฮก ถูกตัดเงินรัวๆ ผู้เสียหายร่วมหมื่น

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ