กรณีโชเฟอร์แท็กซี่คันหนึ่งขับรถไปจอดบริเวณคณะกรรมการความปลอดภัยในการทำงาน (คปอ.) จากนั้นก็มีกลุ่มแท็กซี่มาเฟียเดินเข้ามาบังคับให้จ่ายเงินค่าที่จอดรถ จึงทำให้เกิดมีปากมีเสียงและข่มขู่กัน กระทั่งต้องไปที่โรงพักแต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ตำรวจระบุว่าสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ เนื่องจากมีการคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุดวันที่ 18 ต.ค.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี มีโอกาสพูดคุยกับ นายธีรเดช จันทร์ดัด อายุ 43 ปี ผู้เสียหาย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.64 ที่ผ่านมา ตนได้ไปส่งผู้โดยสานบริเวณสะพานใหม่ และขับรถหาผู้โดยสายมาเรื่อย ๆ กระทั่งมาถึงยังที่เกิดเหตุ บริเวณ BTS คปอ. เห็นว่ามีแท็กซี่จอดต่อแถวหลายคัน ตนจึงขับรถเข้าไปต่อแถวเพื่อรอรับผู้โดยสาร คิดว่าน่าจะจอดได้ เนื่องจากเห็นแล้วว่าถนนเป็นที่เว้าเข้าไป
ทั้งนี้เมื่อเข้าไปจอดก็มีคนเดินเข้ามาหาตน และบอกว่าหากจอดในพื้นตรงนี้จะต้องเสียเงินจำนวน 200 บาท จอดได้ 10 วัน หรือ 600 บาท จอดได้ 1 เดือน ซึ่งในวันดังกล่าวตนขับรถส่งผู้โดยสารได้รอบเดียว มีเงินเพียง 150 บาท จึงบอกว่ามีเพียงแค่นี้จ่าย 100 บาทได้หรือไม่ และชายคนดังกล่าวก็รับเงินไป
กระทั่งภายหลังตนจึงไปปรึกษากับกลุ่มเฟซบุ๊ก Taxi Driver Thailand ถึงเรื่องดังกล่าว โดยได้รับคำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเสียเงินให้กับกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากเป็นถนนพื้นที่สาธารณะ ตนจึงกลับไปเพื่อที่จะทวงถามเงินจำนวน 100 บาทคืน เมื่อกลับมาถึงก็ได้พูดคุยตกลงกันและได้รับเงินคืน 100 บาท แต่จู่ ๆ กลับเกิดเหตุการณ์ชุลมุน กลุ่มคนที่มีเพียงแค่ 4 คน แต่ฝั่งกลุ่มที่เรียกเก็บเงินมีจำนวนหลาย 10 คน ก่อนโต้เถียงกันเรื่องการเก็บค่าที่จอดรถ
จากนั้นชายที่เรียกเก็บเงินจากตน เดินทางไป สน.ดอนเมือง เพื่อที่จะแจ้งความเข้าผิดตนว่า เป็นผู้กักขังหน่วงเหนี่ยว ตนจึงเดินทางตามไปยังโรงพักเช่นกัน เพื่อที่จะแจ้งความในเรื่องเรี่ยไรเงินในพื้นที่ถนนสาธารณะ โดยในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถพูดคุยไกล่เกลี่ยกันได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องแจ้งความแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าไม่มีความเป็นธรรมกับตน จึงอยากจะให้ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด เนื่องจากตนทำงานขับรถแท็กซี่มานานหลายปี ก็มักจะเจอกลุ่มที่เรียกเก็บเงินเป็นประจำ ทำให้การจอดแวะเพื่อรอรับผู้โดยสารเพียงระยะสั้น ๆ ไม่สามารถทำได้ ต้องเสียเงินจอดในแทบทุกพื้นที่ และอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ว่ามีการเก็บเงินในการจอดรอรับผู้โดยสารจริง
นายสมศักดิ์ เหง่าลา อายุ 51 ปี เพื่อนแท็กซี่ กล่าวยืนยันว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในครั้งแรก ตั้งแต่ทำงานขับรถแท็กซี่มาตลอด 18 ปี ถือว่าเกิดขึ้นซ้ำซากไม่มีหน่วยงานไหนมาดูแล เรียกว่าเป็นพฤติกรรมหมักหมมซ่อนเร้น เนื่องจากไม่ว่าจะไปตามจุดต่าง ๆ เมื่อจอดแล้วจะมีกลุ่มที่ตนขอเรียกว่า มาเฟีย เก็บเงินค่าที่จอดรถตามจุดสำคัญต่าง ๆ ตนมองว่าในทุกครั้งที่เคยแจ้งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าไม่สามารถเก็บข้อมูลหลักฐานได้ และไม่สามารถดำเนินคดีได้ ตนไม่มั่นใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ คอยช่วยเหลือหรือรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ ตนอยากทราบว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ถึงปล่อยให้มีการเรียกเก็บเงินในที่สาธารณะเช่นนี้
จากคลิปวิดีโอที่มีการพูดถึงค่าน้ำต่าง ๆ ตนมองว่ากลุ่มมาเฟียเรียกเก็บเงินมักจะใช้รถป้ายดำ รถหมดอายุ ไม่มีการแต่งกายที่ดูถูกต้องตามระเบียบ และตั้งกลุ่มเป็นมาเฟีย สมาชิกที่ขับรถแท็กซี่สาธารณะรายอื่น เมื่อแวะเวียนไปจอดก็ไม่สามารถจอดรถรับผู้โดยสารได้ และทุกครั้งที่ตนเห็นว่ากลุ่มมาเฟียดังกล่าวให้สัมภาษณ์ ก็ให้การปฏิเสธว่า ไม่เคยมีการเรียกเก็บเงินใด ๆ
อย่างไรก็ตาม ตนอยากฝากถึงให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมขนส่งทางบก และเทศบาล ช่วยตรวจสอบสอดส่องดูแลเอาผิดไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายเช่นนี้ อีกทั้งคนขับแท็กซี่ก็มีรายได้ไม่ได้สูงนัก หากจะต้องเสียเงินให้กลุ่มดังกล่าว ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากให้ตรวจสอบโดยด่วน
ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางมายัง BTS แยกคปอ. แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยจะเห็นได้ว่ามีรถแท็กซี่หลายคันจอดเรียงเป็นแถวยาว ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นายนพ (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี พนักงานแท็กซี่ และชายเสื้อลายสีฟ้าที่ปรากฏในคลิปดังกล่าว ระบุว่า ตนเป็นชายในคลิปวิดีโอจริง เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นการเรียกเก็บเงิน แต่เป็นความสมัครใจ โดยชายผู้ถ่ายคลิปเป็นผู้นำเงินมาให้กับตนจำนวน 100 บาทเอง ซึ่งตนไม่ได้พูดคุยกับเขาว่าจะต้องจ่ายเงินเท่าไร เพียงแต่เงินดังกล่าวเป็นเงินที่จะนำมาซื้อน้ำดื่ม หรือช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก ที่หากรถเสีย รถพัง หรือญาติใครเสียชีวิต ก็จะนำเงินส่วนกลางดังกล่าวไปช่วยเหลือ อยู่กันแบบพี่น้อง ยืนยันไม่ใช่เป็นมาเฟียอย่างแน่นอน
เรื่องของเงิน 100 บาทนั้น ไม่มีการจ่ายเป็นเดือน เพียงแค่สมัครใจที่จะเข้ามาอยู่ในชมรมเท่านั้น ตนไม่เคยไปสร้างความเดือดร้อน หรือวิ่งเหมาพาผู้โดยสารอ้อม หรือปฏิเสธผู้โดยสาร อีกทั้งส่วนที่เป็นรถแท็กซี่อื่น ๆ คันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนในชมรม สามารถเดินทางขับรถเข้ามาจอดได้ ไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว ส่วนเรื่องสติกเกอร์นั้นเป็นการติดเพื่อให้สามารถจำได้ว่ารถคันไหนอยู่ในชมรมจะได้ช่วยเหลือได้หากมีปัญหาตามจุดต่าง ๆ
"ในวันที่เกิดเหตุที่เขาเดินทางมาในพื้นที่ มีรถแท็กซี่ 2 คันมาจอดปิดเอาไว้ ซึ่งปิดช่วงคันสุดท้าย ผู้โดยสารไม่สามารถออกได้ ผมจึงโมโหเพราะเหตุใดถึงมาปิดห้ามออก ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่สามารถมาตรวจสอบได้ทันที กลุ่มชมรมของผมบริสุทธิ์อย่างแน่นอน ผมยืนยันจะฟ้องกลับแน่นอน" นายนพ กล่าว