จากกรณีที่ช่วงเช้ามืด วันที่ 13 พ.ย. 61 เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน มีผู้เสียชีวิต ในพื้นที่บ้านป่าตันซอย 4 ต.ป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยตำรวจสภ.ช้างเผือก ได้เข้าไปตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าว พบเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งไม้ครึ่งปูน ถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหลัง ที่เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิตที่อาศัยอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว 3 ราย ทราบชื่อ คือ นายบัญฑิต ทองคำ อายุ 29 ปี, นางพนิดา ประเสริฐ อายุ 28 ปี และด.ช.นวพล ทองคำ อายุ 2 ขวบ สภาพศพถูกไฟคลอกร่างไหม้เกรียม
วันที่ 14 พ.ย. 61 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ ที่หมู่บ้านป่าตัน ต.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ส่วนล่างเป็นปูน โดยตั้งอยู่ภายในซอยชุมชน พบว่าสภาพบ้านมีเพียงร่องรอยการไหม้ เหลือเพียงตอบ้าน และส่วนของปูนเท่านั้นที่ยังคงสภาพ ส่วนที่เป็นไม้ไหม้กลายเป็นถ่านสีดำทั้งหมด และของใช้ภายในบ้าน เช่น โซฟา พัดลม รถจักรยานยนต์ เหลือเพียงซากโครงเหล็ก แต่ภายในบ้านมีส่วนที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย และถูกระงับเพลิงได้ทันคือ บริเวณครัวที่ติดกับบ้านของเพื่อนบ้าน ที่ยังคงมีอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัวหลงเหลือเอาไว้
ที่สุสานบ้านป่าตัน ต.ช้างเผือก สถานที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ว่าที่ ร.ท.บัณฑิต ทองคำ อายุ 29 ปี, น.ส.พนิดา ประเสริฐ อายุ 29 ปี และด.ช.วัชรพล ทองคำ วัย 2 ขวบ บรรยากาศในงานเป็นไปด้วยความโศกเศร้า โดยญาติได้ประกอบพิธีทางศาสนา และตั้งสวดอภิธรรมศพต่อเนื่องไปจนถึงวันศุกร์ที่ 16 พ.ย. ก่อนมีพิธีฌาปนกิจในวันเสาร์ ที่ 17 พ.ย. 61
ด้าน
นายดำรง ทองคำ หรือ หน่อง อายุ 62 ปี พ่อของ ว่าที่ ร.ท.บัณฑิต เล่าว่า ลูกชายขึ้นไปนอนหลังจากทำงานเสร็จ เมื่อเวลา 03.00 น. กระทั่งเกิดเหตุไฟไหม้ในเวลาประมาณ 04.00 น. พบว่าต้นเพลิงเริ่มจากชั้นล่างของบ้าน และด้วยสภาพของบ้าน 2 ชั้น ที่ทำด้วยไม้สักทั้งหลังและมีผนังหนา 2 ชั้น จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ซึ่งภายหลังที่แจ้งรถดับเพลิง ก็ยังพบว่าเข้ามาในพื้นที่อย่างยากลำบาก เพราะบ้านของตัวเองอยู่ภายในซอยแคบ จึงต้องมีการต่อสายรดน้ำเข้ามาเพื่อดับเพลิง
ขณะที่ไฟไหม้บ้าน ตัวเองพยายามขึ้นไปบริเวณชั้น 2 เพื่อเรียกให้ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานชายตื่น แต่ก็ไม่มีใครตอบหรือมีปฏิกิริยาใด ๆ ส่วนตัวเองคาดว่า ทุกคนหลับสนิท เนื่องจากอ่อนเพลียจากงานที่ทำมาตลอดทั้งวัน ยอมรับว่าในขณะที่ตัวเองขึ้นไปตะโกนร้องเรียก หากทุกคนตื่นขึ้นมา และรีบออกมาจากบ้าน ก็คงจะไปเป็นอะไร ส่วนหากจะมีการพังประตูเข้าไปช่วยเหลือ ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากปิดประตูไม้สักหนา 2 นิ้ว และเป็นประตูที่ลักษณะบานเปิดออกมาภายนอก จึงยากที่จะพังเข้าไปช่วยเหลือ “เราจะดันเข้าไป จะถีบยังไง เรามือเปล่า จึงยากที่จะพังประตู”
ส่วนการเอาตัวรอดของผู้ตายทั้ง 3 คน หากจะออกมาจากหน้าต่างก็เป็นไปยากเช่นเดียวกัน เพราะในห้องบุผนัง เพื่อรักษาความเย็น ในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ประกอบกับหน้าต่างทุกบานมีเหล็กดัด จึงทำให้ยากที่จะปีนออกมาจากหน้าต่างเพื่อเอาตัวรอด
นายดำรง กล่าวต่อว่า วินาทีหลังจากที่ไฟไหม้ และทุกคนเสียชีวิตในบ้าน ศพของทั้ง 3 คน ก็ร่วงลงมาจากชั้น 2 ลงมากองอยู่บริเวณชั้น 1 เพราะพื้นไม้ถูกไหม้หมดแล้ว สภาพศพของแต่ละคนไหม้เกรียม โดยลูกสะใภ้และหลานชายนอนกอดกัน ห่างออกไปไม่ไกลก็พบศพของลูกชาย
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ความสูญเสียนี้ ตัวเองรู้สึกเจ็บและเสียใจ แต่ขอให้ความรู้สึกนี้อยู่ข้างใน ตนไม่อยากแสดงออกมาให้ใครเห็น วันนี้พวกเขาจากไปแล้ว ตนก็อยากให้จากไปด้วยดี และเชื่อว่าทำบุญร่วมกันมาแค่นี้ หลังจากนี้เรื่องของบ้าน ตนจะประสานหน่วยงานเข้ามาช่วยรื้อซากออก และจะปลูกบ้านเล็ก ๆ ไว้อยู่อาศัยกับแม่ของผู้ตายเท่านั้น
ด้าน
นางไข่แก้ว ศรีวิชัย หรือ หมวย อายุ 56 ปี เพื่อนบ้านใกล้จุดเกิดเหตุ เปิดเผยว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นบนเป็นไม้เก่าอายุเกือบ 10 ปี และชั้นล่างเป็นปูน มีการต่อเติมส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ซึ่งภายในบ้านมีของใช้ค่อนข้างมาก จึงทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จึงควบคุมยาก ส่วนบ้านของตนเองได้รับความเสียหายเล็กน้อย เพราะเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ทัน วันเกิดเหตุตนเองได้ยินเสียงคนภายในบ้านตะโกนว่าไฟไหม้ จึงรีบออกมาจากบ้านไปอยู่บริเวณกลางแจ้ง ขณะนั้นเห็นว่าไฟไหม้บ้านหลังดังกล่าวอย่างรุนแรง
นางไข่แก้ว เล่าถึงความเชื่อว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (13 พ.ย.) มีพิธีสวดอภิธรรมศพของผู้เสียชีวิตภายในบ้านเป็นคืนแรก ส่วนศพตั้งบำเพ็ญกุศลศพอยู่ที่วัด โดยช่วงเวลาที่พระเริ่มสวด ตนเองพร้อมกับญาติที่นั่งอยู่ใกล้บ้านจุดเกิดเหตุ ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้ คล้ายกำลังเจ็บปวด ซึ่งตามความเชื่อของคนล้านนา ครอบครัวดังกล่าวตายแบบไม่รู้ตัว และยังไม่ได้สั่งเสีย ดวงวิญญาณจึงยังวนเวียนอยู่ภายในบ้าน ซึ่งหากจะปลดปล่อยวิญญาณให้พวกเขาไปสู่สุคติ จะต้องนิมนต์พระมาประกอบพิธีสวดถอนแบบล้านนา ส่วนซากของบ้านที่เกิดเพลิงไหม้ ความเชื่อของชาวบ้าน ก็จะต้องมีการขุดเอาไปทิ้งที่วัด หรือสุสาน ป่าช้า ทั้งหมด ก่อนที่จะมีการปลูกสร้างใหม่