พ่อแม่ร่ำไห้ คาใจครูปล่อยลูกป่วยตาย 6 ชม. ไม่ไปรพ. - รร.ยัน โร่พารักษาแต่ติดต่อแม่ไม่ได้ (คลิป)

22 พ.ย. 61
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ประพันธ์ นิลเศษ โพสต์รูปภาพงานศพของลูกชายวัย 14 ปี พร้อมข้อความระบุว่า ตนเองส่งโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นลูกชายเกิดอาการป่วย แต่ครูไม่ยอมส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล
นายประพันธ์ นิลเศษ และนางสาวพัชรินทร์ ถั่วเถื่อน พ่อและแม่ของเด็กผู้เสียชีวิต
ทำให้ลูกชายต้องนอนป่วยอยู่ 3 วัน จนกระทั่งครูได้พาลูกชายไปโรงพยาบาลแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา ภายหลังตนทราบจากแพทย์ว่าลูกตนเสียชีวิตไปแล้ว 6-8 ชั่วโมง ทำให้ตนสงสัยว่าเหตุใดโรงเรียนไม่พาไปหาหมอตั้งแต่วันแรก (อ่าน : พ่อแม่โวย ลูกป่วยหนักคารร. ประจำ ครูไม่พาส่งรพ. มาเยี่ยมอีกที ช็อก! ลูกตาย)
ระยะห่างโรงเรียนถึงโรงพยาบาล
นางสาวพัชรินทร์  แม่ของน้องพี กล่าวว่า ตนเหตุใดโรงเรียนจึงละเลยปล่อยให้ลูกนอนป่วยถึง 3 วัน โดยไม่นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับรักษา ทั้งที่ โรงพยาบาลอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่เกิน 1 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 10 นาที
โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกุล ต.หนองหงส์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
วันที่ 22 พ.ย. 61 ทีมข่าวลงพื้นที่โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกุล ต.หนองหงส์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่รับดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา
นางสาวเพียงใจ หงษ์ทอง ผอ.โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกุล
ซึ่ง นางสาวเพียงใจ หงษ์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกุล ชี้แจงว่า ด.ช.วงศธร นิลเศษ หรือ น้องพี เป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หรือเด็กพิเศษ โดยช่วงก่อนเกิดเหตุ ประมาณวันศุกร์ (16 พ.ย.) เด็กมีอาการป่วย คือ มีไข้ ซึมเล็กน้อย กระทั่งวันอาทิตย์ (18 พ.ย.) คุณครูพยายามเช็ดตัวให้ เนื่องจากเด็กเริ่มขับถ่ายใส่กางเกงใน มีอาการไข้ขึ้นสูง ทำให้ต้องส่งตัวน้องพีไปนอนที่เรือนพยาบาล ซึ่งในวันดังกล่าว ครูก็ได้มีการพยายามโทรแจ้งไปทางผู้ปกครองทันที รวมถึงส่งข้อความไลน์ไปบอกผู้ปกครองด้วย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จากนั้น ช่วงเช้าวันจันทร์ (19 พ.ย.) คุณครูพาน้องไปส่งรักษาตัวที่สถานีกาชาดสิรินธร โดยมีการพาเด็กที่มีอาการป่วยไปหาหมอทั้งสิ้น 9 คน พร้อมกับพี่เลี้ยง 2 คน ซึ่งเหตุผลที่ไม่ได้พาไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กพิเศษ เมื่อมีอาการป่วยจะมีอาการงอแง โวยวาย พฤติกรรมหลากหลาย หากไปพบกับสภาพที่มีคนเยอะหรือต้องรอพบแพทย์นาน ๆ อาจจะทำให้เด็กเกิดความอึดอัด การดูแลกำกับเด็ก ๆ ทุกคนในเวลาเดียวกันค่อนข้างยุ่งยาก ประกอบกับทุกวันจันทร์ จะมีแพทย์จากโรงพยาบาลทุ่งสง มาประจำอยู่ที่สถานีกาชาด ทั้งนี้ แพทย์ประเมินอาการเบื้องต้นของน้องพีว่า มีอาการไข้ขึ้นสูงประมาณ 38 องศา มีน้ำมูก อาการไอแห้ง จากนั้นได้ให้ยามาทาน พร้อมระบุว่า หากภายใน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น ให้พาไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลทุ่งสง
ด.ช.วงศธร นิลเศษ หรือน้องพี ผู้เสียชีวิต
นางสาวเพียงใจ กล่าวต่อว่า ครูจึงพาน้องกลับมารักษาตัวที่โรงเรียน จากนั้นคุณครูก็ให้ทานยาแล้วพาเช็ดตัวตลอด พร้อมทั้งพยายามที่จะติดต่อให้ผู้ปกครองมารับตัว แต่ก็ไม่สามารถโทรศัพท์ ติดต่อได้ จนกระทั่ง สามารถติดต่อผู้ปกครองได้ในเวลา 14.00 น. ซึ่งผู้ปกครองบอกว่า จะรีบมาทันที คุณครูประจำชั้นจึงแจ้งน้องพีว่า เดี๋ยวคุณพ่อมารับ ซึ่งตอนนั้นน้องยังรู้สึกตัวรับทราบ แต่เวลา 16.00 น. เด็กเกิดอาการช็อก ไม่รู้สึกตัว คุณครูจึงรีบนำรถโรงเรียนพาน้องส่งโรงพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาลและแพทย์รักษาแล้ว จึงแจ้งว่าน้องเสียชีวิต เนื่องจากปอดติดเชื้อฉับพลัน และร่างกายขาดน้ำ ซึ่งกรณีที่ผู้ปกครองระบุว่า คุณครูปล่อยให้เด็กเสียชีวิตนานกว่า 6 - 8 ชั่วโมงนั้น ตนยืนยันว่า คุณครูได้ดูแลน้องอย่างใกล้ชิด กระทั่งถึงโรงพยาบาล รวมถึงตอนที่น้องเสียชีวิต โรงเรียนจึงได้เรียกรถมูลนิธินำร่างน้องไปส่งที่บ้านเกิดเพื่อทำพิธี อย่างไรก็ตาม นางสาวเพียงใจ ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำตาคลอว่า ทางโรงเรียนและบุคลากรทุกคนรู้สึกเสียใจกับทางครอบครัวของน้องพี สิ่งที่พวกเราทำไม่ใช่การปล่อยปละละเลย ทางเรามีการดูแลน้องตลอด 24 ชั่วโมง
นางฐานิกา พรหมประสงค์ หัวหน้าสถานีกาชาดสิรินธร
จากนั้น ทีมข่าวเดินทางต่อมาที่ สภากาชาดสิรินธร ซึ่งเป็นจุดแรกรับประเมินอาการป่วยไข้ของน้องพี โดย นางฐานิกา พรหมประสงค์ หัวหน้าสถานีกาชาดสิรินธร เปิดเผยว่า คุณครูของโรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกูล มักพาเด็กนักเรียนมาตรวจรักษาอาการเกือบทุกวัน สำหรับอาการของน้องพี จากการที่ตนได้ตรวจสอบกับทางเจ้าหน้าที่คัดกรอง คุณครูได้ให้ประวัติของน้องพีไว้ว่า น้องมีอาการไข้ มีน้ำมูก และมีอาการไอ ทางเราได้คัดกรอง พบไข้สูงถึง 39 องศา ซึ่งหมอได้ให้คำแนะนำว่า หากทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ให้กลับมาตรวจเลือดที่ รพ.ทุ่งสง โดยการตรวจในวันนั้นไม่ได้มีการเจาะเลือด แต่เป็นการประเมินอาการภายนอก นางฐานิกา กล่าวต่อว่า หากพยาบาลของทางสภากาชาดทำการประเมินแล้วว่าเด็กมีอาการไข้สูง หรือมีอาการป่วยรุนแรง เสียน้ำเยอะ ปวดท้องรุนแรง ก็จะมีการส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล โดยในวันนั้น จากการซักประวัติ ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องน้องมีอาการท้องเสียแต่อย่างใด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ