จากกรณี นางอุลัย ทันวิมา แม่ของด.ช.จิรนัย ทันเต หรือน้องเฟรม อายุ 12 ปี โดนไฟดูดเสียชีวิต ในคืนวันที่ 19 ต.ค. ที่อุทธยานแห่งชาติภูจองนายอย บ้านแก้งเรือง ต.นาจะหลวย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี ร้องขอความเป็นธรรมให้กับลูกชาย
โดยคืนวันเกิดเหตุ ด.ช.เฟรมพร้อมเพื่อนในหมู่บ้าน วัยใกล้เคียงกัน จำนวน 3 คน ชักชวนกันไปเที่ยวเล่น และมุดเข้าไปในรั้วที่เจ้าหน้าที่ใช้เก็บของกลาง เมื่อไปถึงรั้วชั้นที่ 2 พบว่ามีการปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้รอบกองไม้พะยูงที่ยึดไว้เป็นของกลาง ทำให้ไฟดูด ด.ช.เฟรม และด.ช.เหลื่อม เพื่อนรุ่นพี่ที่ไปด้วยกัน พยายามจะเข้าไปช่วย ก็ถูกไฟดูด และยามที่อยู่ด้านหน้าได้สาดไฟมาที่กองไม้พะยูง ด.ช.เหลื่อม ตกใจ จึงทิ้งเพื่อนไว้ในที่เกิดเหตุ ก่อนวิ่งออกมาโดยไม่ได้แจ้งให้ใครทราบ กระทั่งบ่ายวันรุ่งขึ้น จึงได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้
วันที่ 22 พ.ย. 61
นางอุลัย ทันวิมา แม่ของผู้ตาย เปิดเผยว่า ระหว่างการตั้งบำเพ็ญกุศลศพลูกชาย มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยเข้ามาเจรจา ขอจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 90,000 บาท แต่ครอบครัวเห็นว่าน้อยเกินไป จึงไม่รับ และได้เข้าแจ้งความในวันที่ 25 ต.ค. กระทั่งวันเผาศพ ได้เปิดโลงศพเพื่อดูหน้าลูกชายเป็นครั้งสุดท้าย พบว่าสภาพศพมีรอยยุบบริเวณหน้าผาก 2 แห่ง และมีรอยเขียวช้ำ ที่บริเวณเบ้าตาด้านซ้าย จึงติดใจสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากการถูกทำร้ายด้วยหรือไม่
จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงมอบเงินสดให้จำนวน 30,000 บาท โดยบอกว่าเป็นค่าช่วยทำศพ ไม่เกี่ยวข้องกับค่าเสียหาย ซึ่งตนก็ได้รับไว้ จนถึงปัจจุบันเรื่องคดีลูกชายของตนที่เสียชีวิต ยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งตนยังถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งความกลับที่ลูกชายและเพื่อน ๆ ที่เข้าไปในพื้นที่เก็บของกลาง ในข้อหาร่วมกันบุกรุก และร่วมกันพยายามลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยทำลายสิ่งกีดกั้นใช้คุ้มครองทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า คาใจเรื่องเจ้าหน้าที่อุทยานที่ปล่อยกระแสไฟในบริเวณนั้น เนื่องจากอยู่ใกล้ลำธาร ที่เด็ก ๆ มักจะชอบไปเล่นน้ำ รวมถึง วันเกิดเหตุ เพื่อนลูกชายเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่สาดแสงไฟมา จึงตกใจวิ่งหนี และร้องตะโกนให้คนช่วย แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่ยอมช่วยลูกชาย หรือตัดกระแสไฟฟ้า พร้อมยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ ลูกชายไม่เคยเข้าไปขโมยไม้พะยูง คาดว่าคงเข้าไปเที่ยวเล่น จึงอยากขอความเป็นธรรมให้กับลูกชาย และอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวคนผิดมาลงโทษ
ด้าน
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าว ปกติจะมีชุดลาดตระเวนประจำการอยู่ แต่หากชุดลาดตระเวนต้องออกไปเดินป่าป้องกันการลักลอบการทำผิดกฎหมาย จะเหลือเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ยามเพียง 2 คน ซึ่งเกินกำลัง เนื่องจากมีไม้ของกลาง รวมทั้งยานพาหนะ และอุปกรณ์อื่นที่ตรวจยึดไว้จำนวนมาก จึงต้องมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าช่วยป้องกันในช่วงกลางคืน โดยจุดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าก็เป็นรั้วชั้นใน มีป้ายติดประกาศเตือนมองเห็นชัดเจน รวมทั้งมีการประกาศแจ้งชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็รู้ว่าเป็นเขตหวงห้าม เพราะก่อนหน้านี้ มีไม้รวมทั้งเครื่องยนต์ต่าง ๆ ถูกคนร้ายแอบเข้าไปขโมย โดยมีการตัดกระแสไฟฟ้า เนื่องจากมีการติดตั้งระบบหากมีสัตว์หรือคนไปถูกรั้วดังกล่าวดูด ไฟก็จะตัด ไม่ให้ถึงตาย
แต่ในวันเกิดเหตุมีฝนตก และยามที่อยู่ด้วยกัน 2 คน ได้ยินเสียงสุนัขเห่าดังมาจากด้านหลังของรั้ว แต่ไม่ได้ออกไปดู กระทั่งสายวันรุ่งขึ้น จึงไปพบมีเด็กถูกไฟดูดจนเสียชีวิต จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและแพทย์เข้ามาร่วมชันสูตรพลิกศพในวันเดียวกัน
เมื่อเกิดเหตุขึ้น แม้ตนเพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งได้ไม่กี่วัน ก็ได้มีการเรียกประชุมหัวหน้าหน่วย เพื่อหาทางช่วยเหลือ เนื่องจากต้องการอยู่ร่วมกับชาวบ้านโดยไม่มีความขัดแย้ง เบื้องต้นตกลงจะช่วยกันหาเงินช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมจำนวน 100,000 บาท แต่ครอบครัวของผู้ตายเรียกร้องเงินมากถึงล้านกว่าบาท จึงยังทำอะไรไม่ได้
ส่วนหัวหน้าชุดอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยที่เกิดเหตุ ก็ได้ไปกู้เงินสหกรณ์มามอบให้ครอบครัวเป็นการช่วยเหลือค่าทำศพ เบื้องต้น จำนวน 30,000 บาท ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ต้องพิสูจน์ความจริงที่เกิดขึ้น เพราะพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่เป็นยามทั้ง 2 คน ของชุดพิทักษ์ป่าอุทยานภูจองนายอย 6 แก้งเรือง ซึ่งอยู่ดูแลสถานที่ในวันเกิดเหตุแล้ว