คลัง ห่วงสุขภาพคนไทย เตรียมเก็บ ภาษีความเค็ม จากผงชูรส น้ำปลา ขนมขบเคี้ยว

26 พ.ย. 64

คลัง ห่วงสุขภาพคนไทย เตรียมเก็บ ภาษีความเค็ม จากอาหารและเครื่องปรุง เช่น ผงชูรส น้ำปลา ขนมขบเคี้ยว ขณะนี้เร่งศึกษารอใช้ช่วงเหมาะสม เศรษฐกิจฟื้น

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.64  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดการประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย ขึ้น มุ่งหวังการขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรม ร่วมปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในอาหารเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นความสำคัญในการลดการบริโภคเกลือโซเดียมเพื่อช่วยลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนอันเนื่องมาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูง และจากรายงานการสำรวจในปีที่ผ่านมาโดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก พบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

260458691_1793890807482894_24

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจในอีกด้านหนึ่งคือ สนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน ดังนั้นเพื่อให้คนไทยลดการบริโภคเกลือโซเดียมอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการภาษีสรรพสามิตจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชน และผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดการบริโภคและลดการผลิตสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง ร่วมกับการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่น ๆ และในปัจจุบันกระทรวงการคลังโดย กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็มตามปริมาณโซเดียม และจะดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป 

ทั้งนี้มีเป้าหมายให้การบริโภคโซเดียมของคนไทยในแต่ละวันให้น้อยกว่า 20% ต่อคนต่อวัน หรือเหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน หรือจากอัตราการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันที่ 3,600 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน และมีเป้าหมายให้ลดต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่หากมีการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ก็จะมีผลต่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องการจัดเก็บภาษีจากความเค็มนั้น ก็ต้องไปดูว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร โดยอาจจะต้องใช้เวลา เพราะต้องมีการหารืออย่างรอบคอบกับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหาร

“ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และไตวายเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โดยมาจากการบริโภคหวาน มัน เค็ม ที่ผ่านมาคลังได้มีการจัดเก็บภาษีจากความหวานไปแล้ว ก็ได้ผลดี ต่อไปก็เป็นภาษีจากความเค็ม ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากโรคเรื้อรังส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียค่าใช้จ่าย และโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนจะเริ่มจัดเก็บภาษีจากความเค็มได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้การจะกระตุ้นให้คนไทยบริโภคความเค็มลดลงนั้น มีเครื่องมือหลายอย่าง โดยเครื่องมือที่ดีที่สุดคือ เครื่องมือทางภาษี ก็จะได้ผลให้มีการลดการบริโภคได้ทันที และการเข้าไปดูในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสินค้าทุกประเภทมีเกลือเป็นส่วนประกอบทั้งหมด การใช้เครื่องมือทางภาษีจึงต้องดูการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมด้วย รวมถึงมาตรการรณรงค์ในกลุ่มร้านอาหาร และพฤติกรรมของคนในครอบครัวให้ลดการบริโภคเค็มลง ยอมรับว่าคงต้องใช้เวลา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องยากทุกส่วนจะต้องปรับตัวทั้งหมด

นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาษีจากความเค็มจะจัดเก็บทั้งจากอาหารสำเร็จรูป และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องปรุงอาหารทั้งหมด เช่น ผงชูรส น้ำปลา เกลือ ผงปรุงรส เป็นต้น โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูแล ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ขณะที่ร้านอาหาร ภัตราคาร ก็ต้องมีองค์การอาหารและยา (อย.) เข้ามาช่วยดูคุณภาพ โดยจะใช้ระบบเดียวกับภาษีความหวานที่ต้องมีการวัดปริมาณที่ชัดเจน

นอกจากนี้ เมื่อมีการใช้เครื่องมือทางภาษีแล้ว จะต้องมีระบบการติดตามและประเมินผลของมาตรการลดการบริโภคโซเดียมด้วยว่า เครื่องมือทางภาษีแล้วจะมีผลต่อการลดการบริโภคอย่างไร อัตราการป่วยจากโรคไตเรื้อรังจะลดลงหรือไม่ อย่างไร หากไม่มีการติดตามประเมินผล ก็อาจจะสะท้อนว่าเครื่องมือทางภาษีไม่ได้ผล ไม่มีประโยชน์

ด้าน ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของภาษีไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มรายได้ของรัฐบาล แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและการสูญเสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมเกินพอดี อันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้องรังต่างๆ เป็นการจุดประกายให้ประชาชนตระหนักรู้ข้อมูลการบริโภคโซเดียมอย่างสมดุลต่อร่างกาย เพิ่มทางเลือกของสินค้าที่มีโซเดียมต่ำในท้องตลาดมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมคำนึงถึงการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์

ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนการจัดเก็บยังต้องดูความพร้อมของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเวลานี้ยังไม่เหมาะจะดำเนินการ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว โดยมองว่าหากมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท อาจจะสามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีจากความเค็มได้

“สินค้าที่จะจัดเก็บภาษีโซเดียมเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาสูง อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงต้องให้เวลาผู้บริโภคในการปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสม และให้เวลากับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์ โดยเบื้องต้นจะให้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปีสำหรับการปรับตัวก่อนจะมีการจัดเก็บภาษีจริง” นายณัฐกร กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทะลุเป้า! สรรพากร เผยเก็บ ภาษีอีเซอร์วิส กำไรเข้าประเทศ 686 ล้าน
คลัง ยันไม่ลด ภาษีน้ำมัน เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ ชี้ไทยจัดเก็บต่ำสุดในภูมิภาค
เริ่มแล้ว 1 ต.ค.นี้ ขึ้นภาษีสรรพสามิต บุหรี่ เชื่อลดการสูบได้ 2-3%

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม