จากกรณี ด.ช.จิระดนัย ทันเต หรือ น้องเฟรม อายุ 12 ปี เสียชีวิตจากการถูกไฟดูด บริเวณริมรั้วลวดหนามที่มีกระแสไฟฟ้า ภายในเก็บกองไม้พะยูง ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี ซึ่งญาติติดใจสาเหตุการเสียชีวิต เพราะพบร่องรอยคล้ายถูกทำร้ายร่างกาย โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่เด็กและครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ และข้อหาบุกรุก ล่าสุดแม่ของน้องเฟรม เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่อุทยานแล้วนั้น (อ่าน :
ฟ้องกันยับ! ป่าไม้แฉเด็ก 12 โดนไฟดูดตาย มือเกาะไม้พะยูงหวังฉก – แม่โต้ลูกคนดี ถูกใส่ร้าย)
วันที่ 30 พ.ย. 61
นางประหยัด นโส หรือ หยัด อายุ 47 ปี ป้าของผู้เสียชีวิต กล่าว กรณีรั้ว 2 ชั้น ที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง ความจริงเป็นรั้วของชาวบ้าน 1 ชั้น และเป็นรั้วของเข้าหน้าที่อีก 1 ชั้น ซึ่งรั้วก็เป็นเส้นลวดเฉย ๆ ไม่มีการกั้นอะไรมากมาย โดยได้ขึงเส้นลวดกับต้นไม้ เพื่อล้อมไม้พะยูงของกลางแค่กรอบแคบ ๆ ซึ่งการที่เด็กจะผ่านเข้ารั้วขั้นแรก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเด็กเดินขึ้นมาจากลำห้วย ก็จะต้องผ่านรั้วของชาวบ้านเข้าไปอยู่แล้ว เพื่อเดินทางไปจุดต่าง ๆ ในเขตอุทยานตามปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชาวบ้านก็จะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นประจำอยู่ บางครั้งก็จะเข้าไปหาเห็ด เก็บผัก อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าว ไม่ได้มีการหวงห้าม หรือติดป้ายประกาศห้ามเข้าพื้นที่อุทยานแต่อย่างใด
ส่วนที่มาของผัวชาวบ้านขั้นแรก เนื่องจากทำที่กั้นกลางไว้ระหว่างพื้นที่อุทยานกับเขตชาวบ้านนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันสัตว์ที่อุทยานเลี้ยงเอาไว้ เช่น แพะ หมูป่า ไก่ ซึ่งหากไม่มีการทำรั้ว สัตว์เหล่านั้นก็จะแอบออกมากินพืชผักของชาวบ้าน จึงมีการทำรั้วขึ้นมา ซึ่งก่อนหน้านี้ยอมรับว่า การแบ่งเขตระหว่างอุทยานกับพื้นที่ชาวบ้านไม่มีรั้วแบ่งกั้น เพิ่งจะมีขึ้นมาช่วงที่มีการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า หากเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเอาไว้บริเวณลวดดังกล่าว ตั้งแต่ปี 59 แล้ว เหตุใดสัตว์ของเจ้าหน้าที่จึงไม่ถูกไฟฟ้าช็อตตาย และหากเจ้าหน้าที่จะอ้างว่ามีการติดตั้งระบบตัดไฟอัตโนมัติ ทำไมจึงเกิดเหตุนี้ขึ้นได้ โดยเมื่อมีคนไปสัมผัสทำไมระบบถึงไม่ทำงาน กระทั่งต้องมีคนตายเกิดขึ้น
ส่วนที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า ในวันเกิดเหตุมีฝนตกลงมานั้น ทุกคนเป็นพยานได้เพราะในวันดังกล่าวไม่มีฝนตก และเป็นไปไม่ได้ เพราะสวนของตนอยู่ใกล้กับอุทยาน ก็ไม่มีฝนตกลงมา เว้นแต่ช่วงก่อนหัวค่ำ ที่มีฝนตกลงมาเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ ญาติรวมถึงคนในหมู่บ้าน มีบางคนพบเจอดวงวิญญาณของน้องปรากฏตัวให้เห็น บางครั้งก็จะมีคนเห็นยืนก้มหน้าอยู่บริเวณใต้ต้นขนุนหน้าบ้าน บางครั้งคนก็จะได้ยินเสียงหมาเห่า และเห็นว่าน้องยังอยู่บริเวณจุดที่ตาย ซึ่งการปรากฏตัวของน้องในความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่า เป็นเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงไม่ได้ไปเกิด หรือไปสู่ภพภูมิที่ดี ดังนั้นเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่า ผู้ตายจะต้องได้รับความเป็นธรรมจึงจะเชื่อว่าผู้ตายจะไปสู่ที่ชอบที่ชอบ ประกอบกับน้องยังไปเข้าฝันเพื่อนสนิท รวมถึงเพื่อนของพี่สาว โดยพยายามบอกถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ว่า ตนเองเจ็บหัวมาก และเป็นแผลตามตัว เนื่องจากถูกไฟช็อต และบอกว่าเหงา อยากมีเพื่อนไปอยู่ด้วย หิวข้าวมาก ๆ
นางประหยัด กล่าวต่อว่า ญาติอาศัยร่างทรงภายในหมู่บ้าน เพื่อสื่อสารกับดวงวิญญาณของน้อง โดยน้องบอกว่าในวันเกิดเหตุขณะที่กำลังถูกไปช็อต นอนดิ้นอยู่ มีคน 3 คนมายืนดู ไม่ช่วยเหลือตัวเอง เป็นคนอ้วน 1 คน ผอม 2 คน และหนึ่งในจำนวนนี้ เป็นคนไทยพูดอีสาน และจะเอาทั้ง 3 คน ไปอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งหลังจากนั้นญาติก็ได้ทำพิธี เพื่อบอกกับดวงวิญญาณของน้อง ไม่อยากให้จองเวรจองกรรมกันอีก รอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
ส่วนจุดที่พบว่าเด็กทั้งหมด แอบลับลอบเข้ามาบริเวณเขตอุทยาน คือบริเวณรั้วสวนส้มโอของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำที่อ้างว่าเด็กไปเล่นน้ำ ประมาณ 100 เมตร บริเวณท้ายเขตอุทยาน และจุดที่เด็กแอบลอดรั้วเข้าไปนั้น พบว่า มีรอยของไม้ไผ่หักเป็นโพรง สามารถมุดลอดผ่านไปได้ ห่างไปประมาณ 5 เมตร มีการติดตั้งป้ายสีขาว เขียนด้วยตัวหนังสือสีแดง ว่า “พื้นที่หวงห้าม 18.00 - 08.00 น.” และยังมีป้ายสีแดงข้อความสีขาว เป็นสัญลักษณ์รูปหัวกะโหลกไขว้ เตือนให้รู้ว่าเป็นเขตอันตราย
ซึ่งบริเวณจุดนี้ เป็นจุดที่พบศพของน้องเฟรม โดยเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า น้องมีลักษณะนอนคว่ำหน้า มืออยู่ระดับอก กำเส้นลวดเอาไว้ และยังมีลวดหนามที่ใช้ผูกยึดไม้พะยูงเอาไว้ พันอยู่รอบศีรษะด้วย ซึ่งบริเวณจุดที่มีการติดตั้งกระแสไฟฟ้าไว้ นอกจากจะปล่อยไฟฟ้าไปที่เส้นลวดล้อมรอบไม้พะยูงแล้ว ยังได้ปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามพื้น ซึ่งโยงเข้ากับกองไม้พะยูงในแต่ละกองผ่านลวดหนามอีกด้วย
ต่อจากจุดที่น้องเฟรมเสียชีวิต หากขึ้นเนินไป เป็นจุดพักและจุดเข้าเวรของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยห่างจากจุดที่ตายประมาณ 70 เมตร แต่จากการสังเกตพบว่าวิสัยทัศน์ในการมองจะเป็นจุดอับสายตา ประกอบกับความมืด รวมถึงกองไม้พะยูงที่บังเอาไว้อยู่ จึงทำให้จุดเข้าเวร จึงมองไม่เห็นจุดที่น้องเฟรมตาย
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อุทยานอยากพาทีมข่าว ดูระบบตัดไฟ พบว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า หากมีการสัมผัสหรือสิ่งของถูกไฟฟ้าช็อตอยู่ ระบบจะตัดไฟทันที เพราะบางครั้งเพียงแค่ใบไม้ไปสัมผัส หรือฟ้าร้องฝนตก ไฟก็จะตัดโดยอัตโนมัติ ดังนั้นจึงให้ความมั่นใจว่าระบบตัดไฟยังใช้งานได้ตามปกติ เพราะทุกวันนี้ยังคงใช้งานเหมือนเดิม เพียงแต่ปลดสายไฟบริเวณจุดเกิดเหตุออกเท่านั้น
ด้าน
นายสาง ประชา อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.15 ต.นาจะหลวย ปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เปิดเผยว่า ในพื้นที่เขตอุทยานทราบข่าวว่ามีการขโมยไม้พะยูงเกิดขึ้นจริง ช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับแจ้งจากอุทยานว่า มีเด็กในหมู่บ้านไปขโมยไม้พะยูง จึงได้เดินทางไปรับตัว ซึ่งขณะนั้นที่ไปพบกับด.ช.จูเนียร์ พบว่าก่อเหตุเพียงคนเดียว และยืนยันว่าในครั้งนั้นไม่มี ด.ช.เฟรม จากนั้นจึงโทรศัพท์แจ้งกับญาติซึ่งเป็นยายของจูเนียร์ ให้มารับตัวหลาน และเซ็นรับทราบ เนื่องจากในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินคดีเพราะยังเป็นเด็ก จึงได้มีการว่ากล่าวตักเตือนและปล่อยกลับบ้านไป
ส่วนการติดตั้งไฟฟ้า ส่วนตัวมองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ เพราะปกติส่วนใหญ่แล้วมีเจ้าหน้าที่เวรยามประจำตลอด ซึ่งหากไม่เกิดการสูญเสียโดยคนถูกไฟดูด ก็อาจจะเป็นสัตว์ที่ต้องตายเพราะกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ภายหลังที่อุทยานได้มีการติดตั้ง ยอมรับว่าไม่ได้มีหนังสือประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ส่งมายังหมู่บ้าน แต่เป็นการแจ้งไปยังหมู่ที่ 3 เพียงหมู่บ้านเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ ตนก็ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงไปมุดรั้วเข้าบริเวณจุดเกิดเหตุ และเข้าไปจับลวดกระแสไฟฟ้าที่พันเอาไว้ตรงไม้พะยูงจนเกิดเหตุขึ้น ซึ่งตัวเองไม่ขอฟันธงว่าพฤติกรรมดังกล่าวคืออะไร ให้เป็นไปตามกระบวนการตามที่มีหลักฐาน ส่วนชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่มีใครใช้ทางลัดตรงจุดเกิดเหตุ หากจะเข้าพื้นที่ก็จะเข้าผ่านบริเวณป้อมยามเท่านั้น
ซึ่ง
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ในรายการต่างคนต่างคิด อากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 เวลา 18.50 น. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เรื่องที่ตนแจ้งความในคดีอาญากับเด็กที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นเป็นการไปแจ้งตามระเบียบ เนื่องจากเห็นว่าน้องเฟรมมีเจตนาเข้าไปขนไม้พะยูงของกลาง ส่วนเรื่องที่เด็กเสียชีวิตก็ขอให้เป็นอีกกรณีและคดีหนึ่ง ซึ่งสาเหตุที่เจ้าหน้าที่มั่นใจในเจตนาของน้องเฟรมและเพื่อน เนื่องจากศพของเด็กเสียชีวิตอยู่ติดกับสายไฟที่พันล้อมไม้พะยูงไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. เจ้าหน้าที่พบว่าไม้พะยูงหายไป กระทั่ง วันที่ 26 ส.ค. เจ้าหน้าที่สามารถจับกลุ่มเด็กขนไม้พะยูงของกลางได้ โดยให้การซักทอดถึงน้องเฟรมว่า เป็นผู้ร่วมกันเข้าไปขนไม้พะยูงของกลาง
ทั้งนี้ ตนคาดว่าเด็กอาจไม่ทราบว่ามีการปล่อยกระไฟฟ้า เนื่องจากคำให้การของเด็กที่เข้าไปจนไม้พะยูงร่วมกับน้องเฟรมนั้น เด็กบอกว่าเข้าไปแล้วก็ใช้มือจับลวดดึงออกได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่าอาจเพราะระบบตัดไฟทำงานเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นในกรณีดังกล่าว เด็กจึงอาจคิดว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าและใช้มือจับลวด ซึ่งในวันดังกล่าว ระบบตัดไฟไม่ทำงานเนื่องจากวันเกิดเหตุมีฝนตก จึงเกิดเหตุถึงแก่ชีวิต
ต่อมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า มีกลุ่มของเด็กซึ่งลอบเข้ามาขนไม้พะยูงในเขตพื้นที่อุทยานจริง ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา อีกทั้งมีบันทึกคำให้การ โดยมีญาติเด็กอยู่ด้วย เช่น การที่เจ้าหน้าที่สอบถามเด็กว่า มาขโมยไม้พะยูงกี่คน มีใครบ้าง และเดินทางมาอย่างไร โดยเด็กตอบว่า "มา 4 คน และมีผู้ใหญ่มาด้วย" โดยรับสารภาพไว้ทั้งหมด
จากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยาน ระบุในเอกสารทิ้งท้ายว่า "จากการสอบปากคำ เป็นที่แน่ชัดว่าเด็กกลุ่มนี้ ร่วมกันเข้ามาขโมยของกลางจริง แต่เนื่องจากเป็นเด็กที่ยังต้องเรียนหนังสือ หากดำเนินการตามกฎหมาย จะทำให้เสียการเรียน ประกอบกับเป็นการกระทำที่ทำร้ายจิตใจ จึงเห็นสมควรว่ากล่าวตักเตือนให้เด็กกลับไปเป็นคนดีในสังคม ขอรับรองว่าการสอบปากคำในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ไม่ทำร้ายร่างกาย" โดยในเอกสารมีการลงลายมือชื่อของเด็ก และญาติเด็กทั้งหมดเป็นหลักฐานด้วย