วันที่ 13 ธ.ค.64 นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า วันนี้ยังไม่มีวาระพิจารณาเรื่องสถานบันเทิง ขณะนี้ตนมองว่าการแพร่ระบาดโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เพิ่งแถลงข้อมูลชัดเจนยืนยันว่าการเจ็บป่วยไม่รุนแรง ซึ่งถือเป็นข่าวดี แต่แพร่ระบาดรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา 2-5 เท่า สิ่งที่สำคัญก็คือ หากดูข้อมูลในประเทศไทยตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ แต่ลดลงแบบช้า ๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจถือว่าประชาชนช่วยกันได้ดี
อยากให้ดูข้อแตกต่างของประเทศไทยและประเทศฝั่งยุโรปที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนมากกว่าเรา แต่ยังติดเชื้อ 3-4 หมื่นคนต่อวัน สิ่งที่แตกต่างคือ เขาไม่ได้เคร่งครัดมาตรการ ไม่สวมใส่แมสก์ ขณะที่คนไทยสวมใส่แมสก์ประมาณ 99% อย่างไรก็ดีขอเตือนประชาชนว่าอย่าชะล่าใจ เพราวัคซีนป้องกันไม่ได้ 100% แต่เป็นพื้นฐานในการป้องกัน การที่โอไมครอนไม่รุนแรงต้องให้เครดิตการฉีดวัคซีน
นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า มีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการฉีดวัคซีนพบว่าการฉีดเข็ม 1 ขาดอีกประมาณ 7 หมื่นคนจะครบ 100 ล้านโดส ส่วนเข็ม 2 ขาดอีกประมาณ 2-3 ล้านคน จึงอยากประชาสัมพันธ์คนที่ลังเลให้รีบไปฉีดเพราะช่วยได้จริง หากไม่คิดถึงตัวเองก็ขอให้คิดถึงคนรอบข้าง เพราะหากติดเชื้อแม้ไม่มีอาการก็ยังสามารถแพร่ไปหาคนอื่นได้ หากคนที่รับเชื้ออเป็นกลุ่มสูงอายุหรือมีโรคประจำตัว อัตราการตายจะสูง ซึ่งหากดูตัวเลข คนที่เสียชีวิตขณะนี้ 90% เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวและ 70% ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
การกระจายวัคซีนไปทั่วประเทศแล้ว แต่ยังไม่ได้ฉีด 10 กว่าล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 2 ล้านกว่าโดส แอสตราเซนนก้าอีกกว่า 6 ล้านโดส ไฟเซอร์อีก 3 ล้านโดส แต่ไม่มีคนไปฉีด ซึ่งเดิมตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสในเดือนพฤศจิกายน แต่ไม่ได้ตามเป้าเพราะคนลังเล จึงขอกลับไปเป้าเดิมคือฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสในเดือนธันวาคม เพื่อช่วยกันปกป้องคนรอบข้าง ปกป้องประเทศให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้และปกป้องตัวเองจากโอมิครอนด้วย
“ยังไงเราหนีไม่พ้นแน่นอน ซึ่งในประเทศพบการติดเชื้อแล้ว 8 ราย และประเทศใกล้เคีย อย่าง เกาหลีใต้ที่พบการติดเชื้อโอไมครอนเกิดจากภายในประเทศ ซึ่งมีการกลายพันธุ์เองได้ ขณะนี้กระจายไปกว่า 60 ประเทศ อย่างไรไทยก็หนีไม่พ้นและต้องเจออย่างแน่นอน และการแพร่กระจายเร็วกว่าเดลตาจะทำให้เหมือนปีที่แล้ว เดิมอัลฟาประมาณ 80-90% แต่ใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือน เดลตาเข้ามาแทนเป็น 90% ตอนนี้ก็จะเหมือนเดิมหากไม่มีความระมัดระวัง โอไมครอนก็จะเข้ามาแทนเดลตา ซึ่งสิ่งที่ป้องกันได้พื้นฐาน คือ วัคซีน แม้ประสิทธิภาพจะลดลงไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด แต่ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ และสิ่งที่ป้องกันการติดเชื้อได้แท้จริงคือ พฤติกรรมของตัวเราเอง การสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง” นพ.อุดม กล่าว
นพ.อุดม กล่าวว่า มีความกังวลใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ เราอยากให้ไปเที่ยว อยากให้มีงาน แต่ขอให้มีความระมัดระวัง ขอให้สวมใส่แมสก์ พยายามไม่อยู่นานเกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลชัดเจนหากอยู่เกิน 2 ชั่วโมงจะเกิดการแพร่เชื้อคนใกล้เคียงสูงมาก ส่วนความเป็นไปได้ของการผสมกันเป็นไฮบริดระหว่างเดลตากับโอมิครอนนั้น มีความเป็นไปได้แน่นอน การกลายพันธุ์ได้ต้องกระจายแพร่เชื้อไป และยิ่งแพร่เชื้อมากจะมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มาก หากตัดขั้นตอนไม่ให้แพร่กระจายโอกาสกลายพันธุ์จะลดลง ซึ่งเป็นหลักการทางการแพทย์ หากเราช่วยกันในส่วนนี้ ในส่วนของมาตรการสาธารณสุขจะช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดร.อนันต์ เผยผลวิจัยโควิด โอมิครอน สามารถหนีภูมิไฟเซอร์ 2 เข็ม ได้ถึง 41 เท่า
- แพทย์แอฟริกาใต้ เผย ผู้ป่วยโควิด โอมิครอน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง
- ไทยพบผู้ติดเชื้อ โอมิครอน เพิ่มอีก 1 ราย ชายไทย กลับจาก DR คองโก
Advertisement