กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือน 6 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง น้ำหลาก-ดินถล่ม 15-19 ธ.ค.นี้
13 ธันวาคม 2564 ประกาศ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง
ตามประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 1 (53/2564) หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างใกล้เกาะบอร์เนียว มีแนวโน้มเคลื่อนตัวทางตะวันตก เข้าปกคลุมประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 15 - 18 ธันวาคม 2564 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง นั้น
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ จึงขอให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 15 – 19 ธันวาคม 2564 ดังนี้
1.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส
2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน จังหวัดพัทลุง อ่างเก็บน้ำคลองหลา และอ่างเก็บน้ำคลองสะเดา จังหวัดสงขลา
3.เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
-บริเวณคลองท่าดี อ.ลานสกา อ.พระพรหม และอ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
-ทะเลสาบสงขลา อ.สิงหนคร และคลองอู่ตะเภา อ.สะเดา จ.สงขลา
-แม่น้ำปัตตานี อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และอ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี
-แม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก และอ.ตากใบ
-คลองตันหยงมัส อ.ระแงะ อ.เมืองนราธิวาส และอ.ยี่งอ จ.นราธิวาส รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำปากแม่น้ำและพื้นที่บริเวณหลังแนวคันกั้นน้ำทะเล เนื่องจากจะมีระดับน้ำทะเลหนุนยกตัวสูงกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา /ภ ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลง ของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
3.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
5.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์