กรณีโลกโซเชียลฯ กำลังฮือฮากับป้ายประชาสัมพันธ์การจัดงานเคาต์ดาวน์ปี 65 ที่ใช้ชื่อว่า"ชักว่าว เคาต์ดาวน์ปีใหม่ 2565" ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานบุรีรัมย์สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานต่าง ๆ ในระหว่างวันที่ 24 ธ.ค.2564 - 2 ม.ค.2565 ที่สนามช้างอารีน่า ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
ทั้งนี้ ชาวเน็ตที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็ว่าไม่สมควรใช้ภาษาเช่นนี้ เพราะเป็นคำสองแง่สองง่าม บางกลุ่มบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากคำว่า "ว่าว" เป็นการละเล่นที่รู้จักแพร่หลายของคนไทยอยู่แล้ว จะเรียกแบบไหนก็ไม่เป็นอะไร
ล่าสุดวันที่ 15 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถาม นายธนากร พลวัล อายุ 28 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การตั้งชื่องานดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าวเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และการจัดงานมีภาพประกอบระบุชัดเจน ตนมองว่าไม่ใช่คำหยาบคาย แม้จะเป็นคำสองแง่สองง่ามเหมือนที่หลายคนคิดต่าง ซึ่งเพลงไทยในปัจจุบันยิ่งกว่าสองแง่สองง่ามเสียอีก ตนอยากให้เข้าใจว่างานชักว่าวบุรีรัมย์ในครั้งนี้ หมายถึงการ "ชักว่าว" ที่อยู่บนฟ้า ไม่ใช่ชักอยู่ด้านล่าง ใครอยากรู้ก็ลองมาเที่ยวได้ที่บุรีรัมย์
สำหรับงานชักว่าวที่บุรีรัมย์ จะจัดประกวดว่าวแอกยักษ์ สูง 5 เมตร จำนวน 77 ตัว เพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นเมืองบุรีรัมย์ และเรื่องราวความเป็นมาของคนบุรีรัมย์รอบสนามช้างอารีนา ชิงชนะเลิศเงินรางวัล 50,000 บาท ขณะเดียวกันยังมีการจำหน่ายว่าวแอกทุกประเภทจากช่างทำว่าวโดยตรง และมีกิจกรรมระบายสีว่าวแอก
ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางลงพื้นที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เพื่อไปพูดคุยกับ ครูกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือ ครูลิลลี่ ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย เปิดเผยว่า สำหรับชื่องาน “ชักว่าว เคาต์ดาวน์ ปีใหม่ 2565” เมื่อได้เห็นชื่อครั้งแรก ตนก็รู้สึกว้าวสะดุดตาและสะดุดใจกับชื่อมาก ๆ แต่ก็แอบตกใจนิด ๆ ตนมองว่าชื่องานในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการตลาด เพราะฟังแล้วติดหู แต่สำหรับบางคนที่มองว่าชื่อนี้เป็นชื่อลามก ตนมองว่าอยู่ที่เจตนาของผู้พูดและการตีความของผู้ฟัง
สำหรับคำว่า "ชักว่าว" หมายถึงกีฬาชักว่าว แต่คำ ๆ นี้แปลได้ 2 อย่าง ทั้งเรื่องของกีฬาและเรื่องเพศ และสุดท้ายแล้วความหมายของคำว่า ชักว่าว จะเป็นอย่างไร ก็จะขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ฟัง หากไม่ใช้คำว่าชักว่าว ก็อาจจะใช้คำว่า "เล่นว่าว" แต่ก็อาจไม่สะดุดหู ซึ่งโลกสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ฟังจะรับได้หรือไม่ เพราะภาษาไทยก็เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา เพราะนี่คือธรรมชาติของภาษาไทยนั่นเอง