ถอดรหัส 'ผลประโยชน์พลังงาน' ปมอาหรับร้าวสัมพันธ์ (คลิป)

7 มิ.ย. 60
วิกฤตความสัมพันธ์ทางการทูตในกาตาร์ทำให้ตอนนี้ทั่วโลกเริ่มหวั่นวิตกว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่อะไร จะเกิดความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามอ่าวครั้งที่สองหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น แต่ก็ไม่เคยเห็นชาติอาหรับออกมาประกาศตัวกันอย่างแข็งกร้าวแบบนี้ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้คืออะไร เกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายจริงหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ แต่มีมุมหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน กาตาร์มีแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติเหลวในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็น 1 ในแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลายปีที่ผ่านมา ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ เพราะประเทศอื่นก็มีน้ำมัน แต่ในช่วง 2-3 ปีให้หลัง สถานการณ์ราคาน้ำมันมีปัญหา ราคาน้ำมันตกฮวบ จนทำให้หลายประเทศมีรายได้ลดลง รัฐบาลซาอุดิอาระเบียต้องตัดเงินเดือนข้าราชการเพื่อลดรายจ่าย ในขณะที่กาตาร์ยังคงค้าขายก๊าซเหลวโดยไม่กระทบ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะไปถึงเรื่องน้ำมัน ความสัมพันธ์ของประเทศในตะวันออกกลาง หลักๆ เฉพาะในคาบสมุทร มีอยู่ด้วยกัน 16 ชาติ 1 ดินแดน ตอนนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือทีมกาตาร์ ทีมซาอุฯ และประเทศที่ยังไม่เข้าข้างฝ่ายไหน มี 6 ประเทศที่ประกาศตัดสัมพันธ์การทูตกับกาตาร์แล้ว ก็คือ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน อียิปต์ เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจอร์แดน ส่วนซีเรียและปาเลสไตน์ที่ต้องมาอยู่ฝั่งนี้ เพราะฝ่ายตรงข้ามของตัวเองเป็นพันธมิตรกับกาตาร์ นั่นก็คือกลุ่มกบฏซีเรีย และอิสราเอล ส่วนทีมกาตาร์ที่เห็นตอนนี้มีอิหร่าน อิรัก และอิสราเอล ขณะที่กลุ่มประเทศเป็นกลางก็ยังมีมากถึง 5 ประเทศคือตุรกี คูเวต ซูดาน โอมาน และเลบานอน ซึ่งเบื้องต้น ยังพยายามอยากให้ทั้งสองฝ่ายเจรจา เพื่อความสงบสุขในภูมิภาค ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำมันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจอวิกฤต ทำให้รายได้หลักของหลายประเทศหายไป แต่กาตาร์ที่ส่งออกทั้งน้ำมันและก๊าซเหลวไม่กระทบ จากการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ กาตาร์เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2009 มาจนถึงปี 2017 ประชากรของกาตาร์มีประมาณ 2 ล้านกว่าคน แต่พอเฉลี่ยกับรายได้ รายได้ต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 146,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 5 ล้านบาท ประชาชนชาวกาตาร์ยังขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในอาหรับ เพราะมีระบบรัฐสวัสดิการก้าวล้ำทันสมัย รัฐบาลจะให้เงินสงเคราะห์ค่าน้ำ ค่าไฟ ภายในโรดแมพ “กาตาร์ เนชั่นแนล วิชั่น 2030” ที่มาของความร่ำรวย เกิดจากฝีมือของชีคฮาหมัด เจ้าผู้ครองนคร ซึ่งริเริ่มก่อตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เมื่อปี 2005 กองทุนนี้ได้กระจายการลงทุนในธุรกิจภาคต่างๆ ทั่วโลก กว้านซื้อธุรกิจใหญ่ๆของอังกฤษ ตอนนี้เป็นเจ้าของห้างดังอย่างแฮร์รอดส์, ไนท์บริดจ์ และซุปเปอร์มาร์เกต Sainsbury’s นอกจากนั้น ยังถือหุ้นใหญ่ธนาคารบาร์เคลย์ส และบริษัทหลักทรัพย์ “เครดิต สวิส”, และเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลดังๆ ด้วย.

advertisement

ข่าวยอดนิยม