กรณีมีการเผยเเพร่ภาพฟาร์มหมูเเห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นำซากหมูใส่ไว้ในโอ่งเนื่องจากเชื่อว่าหมูเหล่านี้ตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ ASF เเต่ไม่สามารถนำไปฝังได้ เนื่องจากพื้นที่ในฟาร์มเกือบ 2 ไร่ ถูกใช้ฝังซากหมูจนเต็มหมดเเล้ว จากเดิมฟาร์มเเห่งนี้มีหมูกว่า 500 ตัว ก่อนจะทยอยตายตั้งเเต่กลางปี 64 ขณะนี้จึงเหลือไม่ถึง 50 ตัว
ล่าสุดวันที่ 13 ม.ค.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางไปยังฟาร์มหมูดังกล่าว อยู่ในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทีมข่าวได้พูดคุยกับนายชาตรี กิจสมัคร อายุ 69 ปี เจ้าของฟาร์มหมู เปิดฟาร์มให้ทีมข่าวเข้าไปชมด้านใน พบโอ่งจำนวน 9 ใบ ซึ่งบรรจุซากหมูที่ถูกสับเป็นชิ้น ๆ ส่วนท้ายฟาร์มพบซากหมูที่อยู่ในสภาพเน่าเปื่อย 2 ซาก ขณะที่บริเวณใต้พงหญ้าก็ถูกใช้เป็นสถานที่ฝังกลบซากหมูจำนวนมาก
นายชาตรี เปิดเผยว่า หมูที่ฟาร์มเเห่งนี้ติดโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ ASF จากเดิมฟาร์มเเห่งนี้เคยมีหมูมากถึง 5,000 ตัว เเละทยอยตายตั้งเเต่กลางปี 64 จนตอนนี้เหลือหมูในฟาร์มเพียง 50 ตัว ส่วนที่เหลือทยอยขาย ซึ่งหมูเเต่ละตัว ราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10,000 - 15,000 บาท ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก
สำหรับซากหมูที่ตาย จะไม่มีการเคลื่อนย้ายเด็ดขาด เเต่จะกำจัดทิ้งภายในฟาร์ม บางส่วนจะฝังกลบ อีกส่วนจะโยนทิ้งให้ย่อยสลายในฟาร์ม เเล้วใช้จุลินทรีย์ราดเพื่อกลบกลิ่น เเต่ส่วนใหญ่จะหมักไว้ในโอ่ง โดยจะสับเป็นชิ้น ๆ ให้สามารถยัดในโอ่งได้ เเล้วใส่กากน้ำตาล เเละหัวเชื้อเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักจุลินทรีย์
"ตอนนี้ในนครปฐม หมูติดเชื้อทั้งจังหวัด เเต่เจ้าของฟาร์มอื่น ๆ ไม่มีใครกล้ายอมรับ ไม่มีใครกล้าให้สัมภาษณ์ มีผมคนเดียวที่กล้าพูดความจริง ผมมองว่าเราต้องออกมาพูดความจริง หยุดปิดบังสิ่งที่ไม่ดีได้เเล้ว วงการหมูจะได้พัฒนาเสียที ซึ่งหลังจากที่ผมออกมาให้ข่าว ก็มีคนโทรมาข่มขู่ให้หยุดพูด เเต่ผมไม่กลัว เพราะตอนนี้ชีวิตผมไม่มีอะไรจะเสียเเล้ว ผมอยากเห็นวงการหมูพัฒนา" นายชาตรี กล่าว
ทั้งนี้ ตนขอฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ช่วยเหลือก็ขอร้องว่าอย่าซ้ำเติมกัน เพราะช่วงที่เริ่มมีหมูติดเชื้อใหม่ ๆ หมูบางส่วนที่ยังไม่ติดเชื้อ เจ้าของฟาร์มก็จะเร่งขาย เพื่อหวังจะได้ทุนมาทดเเทนส่วนที่ตายไป เเต่ก็มีคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายหมู ดังนั้นในเมื่อเอาออกไปขายไม่ได้ หมูที่เหลือก็ติดเชื้อตายทั้งหมด ส่วนเเนวทางหลังจากนี้ ตนตัดสินใจเเล้วว่าจะเลิกทำฟาร์มหมู
จากนั้นทีมข่าวได้เดินทางไปยัง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง กรณีพบซากหมูตายในฟาร์มจำนวนมาก เเต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เเละปฏิเสธการพูดคุย
ขณะที่เจ้าหน้าอีกราย ระบุว่า ตนเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากนายสมควร ปิยะพงศ์เดชา ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ติดภารกิจด้านนอก เเละไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อไร
จากนั้นทีมข่าวพยายามโทรศัพท์ไปหานายสมควร หลายครั้ง เเต่ไม่รับสาย ไม่สามารถติดต่อได้ จึงเดินทางไปที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด อีกครั้ง เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่หน้าห้องว่าปศุสัตว์จังหวัดอยู่หรือไม่ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเเจ้งว่าประชุมอยู่ในห้อง ก่อนจะเดินเข้าไปบอกปศุสัตว์จังหวัด ว่ามีนักข่าวมาพบ เเล้วเดินออกมาบอกนักข่าว ว่าปศุสัตว์จังหวัดออกไปตรวจงานข้างนอก ไม่ทราบว่าไปที่ไหน โทรศัพท์หาไม่รับ ไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อไร จากนั้นคนที่อยู่ในห้องทำงานของปศุสัตว์จังหวัด ได้ล็อกห้องทันที
ทีมข่าวได้ไปสอบถามพ่อค้าเเม่ค้าที่ขายเนื้อหมู ในเมืองนครปฐม ซึ่งส่วนใหญ่ก็พูดตรงกันว่าได้รับผลกระทบ โดยนางสิริญา อินทร์บุตร อายุ 46 ปี เปิดเผยว่า ตนขายเนื้อหมูมากว่า 10 ปี ไม่เคยเจอราคาที่เเพงขนาดนี้มาก่อน หลังจากที่ราคาปรับสูงขึ้น ทำให้ลูกค้าหายไปกว่า 70% บางคนก็ลดปริมาณการซื้อลง จากเดิมซื้อครั้งละ 1 กิโลกรัมก็เหลือครึ่งกิโลกรัม
เมื่อย้อนกลับไปในปี 64 ราคาเนื้อหมูอยู่ที่ 140 บาท ราคาต้นทุน 120 บาท ได้กำไร 20 บาท เเต่ในปี 65 ราคา 235 บาท ต้นทุน 216 บาท เเต่ยอดขายตกไปกว่า 70% ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าจึงเดือดร้อนกันมาก ๆ
ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่าฟาร์มหมูในพื้นที่นครปฐม ติดโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ ASF เเล้วทำให้หมูตายเป็นจำนวนมากนั้น ในส่วนนี้ตนคิดว่าไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เพราะชาวนครปฐมทราบเรื่องดังกล่าวมานานนับปีเเล้ว เนื้อหมูที่ตายจากโรคนี้จะมีสีซีด ๆ ซึ่งจะเเตกต่างจากหมูทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เเละจะไม่นำมาขานอย่างเด็ดขาด ซึ่งพ่อค้าเเม่ค้าเเละชาวบ้านทั่วไปก็จะดูออก ดังนั้น ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเเก้ปัญหาราคาหมูแพง เพราะเป็นเรื่องปากท้องของประชาชนทั้งประเทศ
นายประภัตร โพธสุธน รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีโรค ASF ระบาดอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม เพียงแห่งเดียว ซึ่งกระทรวงได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่สำรวจทุกจุด รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ก็จะออกประกาศตาม พ.ร.บ.โรคระบาดในสัตว์ทันที หากตรวจพบเชื้อไม่ว่าพื้นที่ใดก็ตาม ส่วนข้อมูลโรคระบาดนั้น กระทรวงรู้มาตั้งแต่ปี 2562-2563 ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน พบหมูลอยตายเกลื่อนในแม่น้ำโขง จึงรวมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดโซนภาคเหนือ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้แพร่เชื้อลงมาและพบเป็นโรค MERS, PRRS ซึ่งขณะนั้นยังไม่พบโรค ASF แต่อย่างใด