บัตรทอง ฟอกไตฟรี สปสช. ย้ำ 1 ก.พ.65 คิกออฟนโยบายเพิ่มทางเลือกผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองฟอกเลือดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ผู้ป่วยเดิมที่อยากเปลี่ยนจากล้างไตทางหน้าท้องมาเป็นการฟอกเลือด หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องการใช้วิธีฟอกเลือด ต้องตัดสินใจร่วมกับแพทย์โดยพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และปัจจัยอื่นๆอย่างรอบด้านเสียก่อน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อสูงอายุขึ้น ไตย่อมเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยโรคไตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือความดันโลหิตไม่ดีก็มีโอกาสเป็นโรคไตได้เช่นกัน โดยปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่ต้องบำบัดทดแทนไตมีประมาณเกือบ 200,000 คน และยังมีคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นโรคไตแต่ยังไม่ถึงขั้นบำบัดทดแทนไต กลุ่มนี้ก็ประมาณการว่ามีจำนวนกว่า 1 ล้านราย ขณะที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ต้องบำบัดทดแทนไตมีประมาณ 60,000 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้วิธีการบำบัดทดแทนไตมี 2 วิธีหลักๆ คือ 1.ล้างไตทางหน้าท้อง โดยวางท่อบริเวณหน้าท้องแล้วเทน้ำยาล้างไตผ่านท่อเพื่อล้างของเสียออกจากร่างกาย วิธีนี้ต้องล้างทุกวัน มีข้อดีคือสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลหรือหน่วยฟอกไต และวิธีที่ 2.การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม วิธีนี้ต้องไปทำที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2-3 วัน ใช้เวลาครั้งละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในจำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ต้องบำบัดทดแทนไต จะมีคนไข้กลุ่มหนึ่งที่เหมาะกับวิธีล้างไตทางหน้าท้อง แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างทำให้คนไข้กลุ่มนี้ปฏิเสธการล้างไตทางหน้าท้องแล้วเลือกใช้วิธีฟอกเลือดแทน
ซึ่งตามหลักเกณฑ์เดิมของ สปสช. ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินเองครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งใน 1 สัปดาห์จะต้องฟอก 2-3 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท/สัปดาห์ หรือ เดือนละ 12,000 บาท ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงโดยเฉพาะกับผู้ที่รายได้น้อย ดังนั้นแทนที่จะให้คนไข้จ่ายเงินเอง มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล จึงมีนโยบายเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ป่วยโรคไตให้สามารถเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตได้ หากประสงค์จะฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สปสช. จะเข้าไปดูแลเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ค่าฟอกเลือด ค่าเจาะเตรียมเส้นเลือด ค่ายากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเองอีกต่อไป
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 ในส่วนคนไข้เดิมที่ปฏิเสธการล้างไตทางหน้าท้องแล้วจ่ายเงินฟอกเลือดเองก็ไม่ต้องจ่ายอีกต่อไป คนไข้ใหม่ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าต้องทำการบำบัดทดแทนไตและเลือกวิธีฟอกเลือดก็ไม่ต้องจ่ายเช่นกัน รวมทั้งส่วนผู้ที่ใช้วิธีล้างไตทางหน้าท้องแต่อยากเปลี่ยนมาใช้วิธีฟอกเลือดก็สามารถเปลี่ยนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเป็นผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องที่อยากเปลี่ยนมาใช้วิธีฟอกเลือด หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องการฟอกเลือด จะต้องทำการปรึกษาและตัดสินใจร่วมกับแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้เพราะทั้ง 2 วิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้ให้คำชี้แนะโดยพิจารณาจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และปัจจัยเกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน โดยการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ตัวผู้ป่วย
"การที่ผู้ป่วยจะเลือกวิธีไหน แพทย์ต้องคุยกับคนไข้ แนะนำข้อดีของเสียของทั้ง 2 วิธีนี้ และการตัดสินใจต้องเป็นการตัดสินใจร่วมระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยพิจารณาความเหมาะสมต่างๆ เช่น โรงพยาบาลในพื้นที่มีหน่วยไตเทียมหรือไม่ เพราะหน่วยไตเทียมส่วนมากกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ขณะที่ตามชนบทห่างไกลหรือโรงพยาบาลอำเภอบางแห่งอาจไม่มีหน่วยไตเทียม หรือถ้ามีหน่วยไตเทียมในพื้นที่แล้วคิวฟอกไตเยอะหรือไม่ ระยะทางระหว่างบ้านผู้ป่วยและหน่วยฟอกไตไกลเท่าใด คนไข้สะดวกเดินทางไปฟอกเลือดหรือไม่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงหรือไม่ เป็นต้น"นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า ผู้ป่วยจะเลือกใช้การบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีใด ต้องทำการปรึกษากับแพทย์ก่อนเพราะพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ และหากต้องการทราบว่าในพื้นที่มีหน่วยไตเทียมหรือไม่ หรือต้องการไปรับการฟอกเลือดที่หน่วยไตเทียมแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นหน่วยที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.หรือไม่ สามารถโทรเข้าสายด่วน 1330 เพื่อตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการที่สามารถเข้าไปรับบริการได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้คนไทยไม่เป็นโรค ที่สำคัญคือเรื่องปรับพฤติกรรมลดบริโภคเค็ม เพราะเกลือและโซเดียมเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลอย่างมากที่ทำให้ภาวะไตบกพร่อง ตามมาด้วยไตวายเรื้อรัง ดังนั้น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ลดบริโภคเค็ม งดเหล้า-บุหรี่ ใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง จะช่วยป้องกันและชะลอความเสื่อมของไตได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปสช.ไฟเขียว ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ฟอกไต ฟรี! เริ่ม 1 ก.พ.65 เป็นต้นไป
- แพทย์เตือน ขายไต ใช้หนี้ อาจได้ราคาแค่ไอโฟน 12 ชี้ทำได้ยาก แถมเสี่ยงไตวาย
- วันไตโลก แพทย์ห่วงคนไทย ติดเค็ม ป่วยโรคไตกว่า 8 ล้าน แนะลดเกลือ-นํ้าปลา