จมน้ำเสียชีวิต ส่วนใหญ่จะลอยขึ้นมาภายในไม่เกิน 24 ชม.

25 ก.พ. 65

สถาบันนิติเวชวิทยาเผยแพร่ข้อมูลกรณีมีผู้จมน้ำเสียชีวิต โดยให้ข้อมูลว่าการจมน้ำตายหมายถึงการที่ร่างกายลงไปอยู่ใต้น้ำและรวมถึงของเหลวอื่นด้วย น้ำลึกเพียงครึ่งฟุตก็สามารถทำให้จมน้ำตายได้ขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกาย เช่น เมาหมดสติ, เป็นลมชัก หรือ เด็กเล็ก เป็นต้น

 

กลไกการจมน้ำ

กลไกในการตายของการจมน้ำคือสมองขาดออกซิเจนจนถึงแก่ความตาย จากการทดลองในปี1950 พบว่าการตายเกิดจากการ มีอีเล็คโตรไลท์ในร่างกายผิดปกติ(electrolyte disturbances) ร่วมกับ/หรือ หัวใจเต้นผิดปกติจากน้ำจำนวนมากเข้าไปในร่างกาย โดยทางปอด ในปัจจุบัน เชื่อว่าเกิดจากการมีออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นสาเหตุให้สมองขาดออกซิเจน



ปฏิกิริยาของร่างกายในการจมน้ำ

คือบุคคลนั้นจะพยายามกลั้นหายใจเพราะกลัว สำลักน้ำ จนกระทั่งออกซิเจนในเส้นเลือดแดงถูกใช้ไปจนถึงระดับที่ต่ำและ คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดดำมีมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง บุคคลนั้นจะหายใจเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งน้ำร่วมทั้งสิ่งอื่นๆที่อยู่ในน้ำก็จะเข้าไปในปอดในตอนนี้ และส่วนมากจะเข้าไปในกระเพาะอาหารด้วย และในขณะเดียวกัน บางคนจะเกิดการอาเจียนและสำลักอาหารในระหว่างนี้ด้วย และการหายใจในลักษณะนี้ จะเกิดต่อไปอีกหลายนาที จนกว่าการหายใจจะหยุด สมองจะขาดอากาศไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้ตาย


 
ในบางคน(ประมาณ 10-15%)อาจจะเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) โดยกล้ามเนื้อกล่องเสียงจะเกร็งบีบ เข้าหากันแน่น ป้องกันไม่ให้สิ่งใดเข้าไปในหลอดลม และยังอาจจะมีน้ำเมือกและน้ำเป็นฟองจากภายในปอดออกมาด้วย ซึ่งเรียกว่า dry drowning ในการผ่าศพจะไม่พบโคลนในหลอดลมหรือไดอะตอมในปอดเป็นเด็ดขาด



อายุและอุณหภูมิของน้ำ

จุดที่สมองขาดเลือดจนตายขึ้นอยู่กับ อายุและอุณหภูมิของน้ำ ถ้าจมในน้ำอุ่นอาจจะใช้เวลา 3-10นาทีในการที่สมองจะขาดออกซิเจนจนตาย ในเด็กเล็กที่จมในน้ำเย็นจัด เคยแก้ให้ฟื้นได้หลังจากจมไปนานถึง 66 นาที(ในกรณีนี้อาจจะอธิบายได้ว่า สมองเด็กยังไม่เจริญเต็มที่ทนต่อการขาดออกซิเจนมากกว่า นอกจากนั้นเด็กยังมีปฏิกิริยาการดำน้ำอยู่ ซึ่งจะทำให้มีการหดตัวของเส้นเลือดบริเวณอื่นๆยกเว้นหัวใจกับสมองทำให้เลือด ไปเลี้ยงสมองเป็นส่วนใหญ่ หัวใจเต้นช้าลง ซึ่งปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่หน้าคว่ำอยู่ ในน้ำ แต่บางคนเชื่อว่าที่เด็กพวกนี้รอดก็เพราะการเกิดภาวะร่างกายเย็นลงทำให้สมอง ต้องการใช้ออกซิเจนน้อยลง) แต่โดยปกติถ้าคนอยู่ใต้น้ำ 3 นาที จะหมดสติทุกราย



น้ำเย็นกับการจมน้ำ

กรณีการแช่น้ำที่มีอุณหภูมิต่ำการตายอาจจะเกิดจากความเย็นมิใช่เกิดจากการจม น้ำเช่นการที่เรือโดยสารประสบอุบัติเหตุจมลง พบว่าถ้าผู้ตายแช่ในน้ำเย็น 4-9องศาเซลเซียสจะตายภายใน 70-90นาที ถ้าอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียสจะตายภายในเวลา 30นาที การตายในกรณีนี้จะตายเพราะหัวใจเต้นริกจากความเย็นไม่ใช่จากการจมน้ำ


 
ฉะนั้น ลำดับของเหตุการณ์จะเป็นดังนี้ กลั้นหายใจ หายใจเองโดยอัตโนมัติเมื่อถึงจุด”สุดกลั้น” หมดสติ และตาย แต่ในบางคนอาจจะมีการหมดสติก่อนที่จะถึงจุดหายใจเองก็ได้



การรอดชีวิตจากการจมน้ำ

ในกรณีที่รอดชีวิตจากการจมน้ำ อาจจะมีอันตรายต่อร่างกายต่อมาได้อีก เนื่องจากเมื่อน้ำ(จะเป็นน้ำเค็มหรือน้ำจืดก็ตาม)เข้าไปในปอด จะเกิดการทำลายของสารความตึงผิวของถุงลมปอด ทำให้ถุงลมแฟบ ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเนื้อปอดส่วนใหญ่เสียไป ซึ่งอาจจะเสียถึง 75 % นอกจากนี้เส้นประสาทเวกัสก็ถูกกระตุ้นทำให้เกิดเส้นเลือดในปอดหดตัว เกิดความดันเลือดในปอดสูงขึ้น ทำให้เลือดยิ่งเข้าปอดน้อยลงไปอีก เชื่อว่าเป็นเวลาหลายวันกว่าที่การหมุนเวียนโลหิตในปอดจะกลับมาสู่สภาพปกติ

 
“ near drowning “ เป็นคำที่เรียกผู้ที่จมน้ำแล้วสามารถช่วยให้มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 24 ชม. ไม่ว่าผู้นั้นจะรอดต่อไป หรือตาย หรือมีอาการพิการต่อไป ซึ่งในผู้ป่วยเหล่านี้ปรากฏว่าไม่มีผลของการที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับอีเล็ค โตรไลท์มากนัก และการเปลี่ยนแปลงของระดับ อีเล็กโตรไลท์ที่พบก็ไม่มีผลต่อการรักษา



ศพจากการจมน้ำ

ในการผ่าศพ จะไม่มีลักษณะทางนิติพยาธิใดใดในการชี้ว่าเป็นการจมน้ำ การวินิจฉัยขึ้นอยู่กับประวัติร่วมกับการเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่ "เข้ากันได้" ฉะนั้นการตรวจการจมน้ำจะต้องตรวจโดยละเอียดรวมทั้งการตรวจทางพิษวิทยาโดย ละเอียด
ถ้าศพถูกพบในน้ำ และการผ่าศพโดยละเอียดร่วมทั้งตรวจสารพิษโดยละเอียดแล้ว ไม่พบเหตุตาย ถือว่าผู้ตายจมน้ำตาย

 
 
นอกจากนั้น ถ้าศพเน่าสลายตัวอยู่ในน้ำนานพอ พวก กุ้ง หอย ปู ปลา ก็เริ่ม มาเกาะ มากิน และการลอยขึ้นเหนือน้ำขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซในร่างของศพ คนที่ dry drowning อาจจะลอยเร็วกว่าเนื่องจากกล่องเสียงปิดกักเอาอากาศไว้ภายใน ในประเทศร้อนปฏิกิริยาทางเคมีเร็ว แบคทีเรียในลำไส้มักผลิตก๊าซเร็วพอที่จะลอยได้ภายในไม่เกิน 24 ชม. แต่ในที่น้ำเย็นจัด การผลิตก๊าซอาจจะช้ามากจนศพอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน


 
ผิวหนังฝ่ามือฝ่าเท้าที่ย่น (washer-woman hand) ไม่ได้แสดงว่าจมน้ำตายเพราะถึงแม้ตายแล้วเอามือไปแช่น้ำภายใน 1-2 ชม.ก็เกิดการย่นได้เหมือนกัน



สิ่งที่พบบ่อยในศพผู้จมน้ำตาย

สิ่งที่พบบ่อยๆในการผ่าศพผู้จมน้ำตาย(ชนิดที่หายใจเอาน้ำเข้าไป) มักพบน้ำปนฟอง โคลน หรือ พืชน้ำขนาดเล็ก อยู่ในจมูก และหลอดลมหลอดลม กดที่หน้าอกจะมีน้ำออกมาทางปากจมูก


 
ปอดมักจะใหญ่และโป่งจนอัดกับซี่โครงเมื่อผ่าปอดจะพบมีน้ำจำนวนมาก พบน้ำในกระเพาะอาหาร สมองมักบวม หัวใจห้องล่างขวาขยายใหญ่ อาจจะพบมีเลือดออก ในกระดูกกกหู ซึ่งสิ่งที่พบทั้งหมดนี้สามารถพบได้ในรายที่ตายจากโรคหัวใจ เสพยาเกินขนาด หรือการตายบางชนิด แต่การพบ การกำเกร็งที่ในมือศพมีเศษกรวด ดิน หิน หรือ หญ้าใต้น้ำอาจจะช่วยชี้ได้ว่าจมน้ำตาย


 
การจมน้ำตายร่างกายมักจะมีการแข็งตัวของกล้ามเนื้อ(rigor mortis)เร็ว เนื่องจากการตะเกียดตะกายอย่างมากก่อนตาย นอกจากนั้นบาดแผลที่แช่ อยู่ในน้ำนานๆ (3-4ชม.)เลือดอาจจะละลายไปในน้ำทำให้เห็นคล้ายเป็นบาดแผลหลังตายได้



การตรวจหาไดอะตอม

การตรวจหาไดอะตอม ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว จำพวกสาหร่ายและมีเปลือกแข็งเป็นหิน(silica)เหมือนเปลือกหอย ขนาดตั้งแต่ 5 – 500 ไมครอน ซึ่งอาจจะผ่านเข้าปอด เข้ากระแสโลหิต อยู่ในเนื้อ ปอด ตับ ไต หรือกระทั่งในไขกระดูก ซึ่งการตรวจทำได้โดยการย่อยสลายอวัยวะนั้นๆด้วยกรดเข้มข้นจนเนื้อเยื่อสลาย ไปหมดแล้วนำเอาน้ำที่เหลือมาปั่นและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ว่าพบไดอะตอมหรือ ไม่ แต่เนื่องจากต่อมามีผู้พบไดอะตอมในอวัยวะต่างๆของร่างกายโดยที่ไม่ได้จมน้ำ และเชื่อว่าอาจจะได้รับโดยการหายใจ การตรวจไดอะตอมจึงไม่สามารถยืนยันการจมน้ำและหลายๆสถาบันได้เลิกตรวจไป


 
การจมน้ำตายในอ่างน้ำ พบน้อย อาจจะในเด็กเล็ก หรือบางรายเป็นการฆาตกรรม หรือใช้ยาเกินขนาด หรือเป็นโรคลมชัก โรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นการตายจากอุบัติเหตุ ถ้ามีผู้กำลังแช่อยู่ในอ่างน้ำ แล้วผู้ทำร้ายจับขาทั้ง2ข้างดึงขึ้นให้ศีรษะผู้นั้นจมลงไปอยู่ในน้ำ อาจจะทำให้เกิดสำลักน้ำได้อย่างรวดเร็วและหมดสติได้



การดำน้ำด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบมนุษย์กบ

การตายมักเกิดจากโรคประจำตัว หรือ จากการที่มีการปรับการกดอากาศไม่เหมาะสมเช่นการขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไปอาจ จะเกิดฟองอากาศในเลือด ปอดฉีกขาด ถุงลมโป่งพอง หรือจากอันตรายใต้น้ำเช่นจากปลาที่เป็นอันตรายเช่น ปลาฉลาม แต่ ปลาขนาดเล็กบางชนิดก็อาจทำอันตรายได้เช่นกัน เคยมีผู้ดำน้ำสวมหน้ากากกันน้ำไม่มีถังออกซิเจน ในอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง เผอิญดำลงใกล้บริเวณ”รัง”ของปลาชะโด(รูปร่างคล้ายปลาช่อนแต่เพรียวกว่าและ ดุกว่ามาก)ที่อยู่ในช่วงดูแลลูกอ่อน ถูกปลาชะโดพุ่งเข้าชนที่หน้ากากกันน้ำอย่างแรงทำให้หน้ากากกันน้ำแตกและผู้ ถูกชนหมดสติ โชคดีที่ดำกันไปหลายคนจึงสามารถรอดชีวิต


 
การติดซอกหิน หรือเครื่องอุปกรณ์ดำน้ำที่ชำรุด โดยเฉพาะถังบรรจุออกซิเจน เช่นเกิดมีก๊าซพิษผสมอยู่ในถังออกซิเจนจากความประมาทเลินเล่อของพนักงาน บรรจุก๊าซ หรือถังเก่า เกิดมีสนิมภายในถังมากอาจจะเกิดปฏิกิริยากับกาซออกซิเจน เกิดก๊าซไออ้นออกไซด์(iron oxide)ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย ฉะนั้นการตายที่พบเกี่ยวกับการดำน้ำชนิดนี้ต้องตรวจอุปกรณ์การดำน้ำเสมอ

 
 
โดย พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์)
ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

 
 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส