สธ.ชง ศบค.ชุดใหญ่ ผ่อนคลาย Test&Go ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมง ลุ้น พื้นที่โล่งไม่ต้องใส่แมสก์ ตามแผน ปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 18 มี.ค. 2565 ทาง สธ.เตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบ Test&Go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดว่า ผู้เดินทางจะต้องมีผลตรวจเชื้อเป็นลบด้วยวิธี RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และมาถึงแล้วให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งทันที ก็เสนอว่าไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงแล้ว เหลือเพียงการตรวจครั้งเดียวเมื่อมาถึงไทย และตรวจ ATK ด้วยตนเองซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 ของการเดินทาง ขณะที่วงเงินประกันสุขภาพผู้เดินทางเดิมกำหนด 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ก็เหลือ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งเราคำนวณจากค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาล ตอนนี้โรคเบาลงแล้ว จากเดิมเราเฉลี่ยค่ารักษา 1 ล้านบาทต่อราย ตอนนี้เหลือเพียง 2 หมื่นบาทต่อราย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะรายงานต่อ ศบค.ชุดใหญ่ ถึงแผนการปรับโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น(Approach to Endemic) เนื่องจากการจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีผลต่อการควบคุมโรค การดูแลรักษา สังคมและกฎหมาย ศบค.จึงต้องรับทราบเพราะดูแลเรื่องสังคมและกฎหมาย ส่วนเรื่องการแพทย์ก็อยู่ในส่วนของ สธ.อยู่แล้ว ซึ่งต้องพิจารณามิติทางสังคมและการแพทย์ให้สมดุลกัน เนื่องจากมีการออกมาตรการทางสังคมและกฎหมายหลาย 10 ฉบับในช่วงการระบาด จึงต้องปรับกฎหมายเข้าสู่ปกติ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลก็เตรียมการปรับเป็นการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีเรื่องของการบริหารในภาวะฉุกเฉิน โดยเตรียมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้สอดรับกับแผนที่จะทำให้โควิดเป็น Post Pandemic หรือพ้นการการระบาดใหญ่
ทั้งนี้ การปรับเราต้องทำแบบขั้นบันได โดยในช่วง 4 เดือนนี้ จะเป็นแผน 3 เฟส + 1 ทำให้เกิดเป็น Post Pandemic ที่ไม่มีการระบาดใหญ่อยู่ในช่วงปลอดภัย ส่วนการทำให้เป็น Endemic อาจต้องดูการประกาศจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งหมดต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า ไวรัสไม่มีการกลายพันธุ์รุนแรงเข้ามา โดยต้องทำอย่างมีสเต็ป ไม่ใช่ว่า 4 เดือนแล้วจะเปิดหน้ากาก มีกิจกรรมสังคมเต็มที่ อาจตั้งเป้าหมายอย่างเรื่องการใส่หน้ากาก ก็สนับสนุนให้คนป่วยใส่หน้ากาก ส่วนคนทั่วไปก็ผ่อนคลายมากขึ้นอาจไม่ใส่ในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะอาจจะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากากเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มก็อาจผ่อนคลายให้รวมตัวมากขึ้น เช่น สนามกีฬา คอนเสิร์ต เป็นต้น แต่ต้องมีมาตรการป้องกันอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่
"สถานการณ์โควิดขณะนี้เป็นไปตามที่วางฉากทัศน์ไว้ว่าช่วงกลางเดือน มี.ค. การติดเชื้อจะเริ่มชะลอตัว แต่ไม่ลดลงฮวบ เนื่องจากการเราใช้มาตรการคล้ายการกั้นน้ำ ที่น้ำค่อยๆ เอ่อล้นและเริ่มลดลง สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนข้อมูลจากนักวิชาการ รพ.ศิริราช และต่างประเทศระบุว่าอยู่ในช่วงกลางๆ และกำลังเข้าขาลง เช่นสหรัฐฯกำลังเริ่มลดลง เนื่องจากวัคซีนเพิ่มและเชื้ออ่อนแรงรวมถึงติดเชื้อมากขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ติดเชื้อมากกว่าไทยทั้งยอดสะสมและติดเชื้อใหม่รายวัน ดังนั้น เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว ประเทศไทยถือว่าอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างดี" ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า