รัฐบาลร่วมมือ ศิลปิน ดารา เตรียมทำเพลง "อย่าโอน" สร้างความรู้ จำได้ง่าย ติดหู ใช้เตือนสติ แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลวงประชาชน
วันนี้ (22 มีนาคม 2565) เวลา 08.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทําเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเหล่าศิลปิน ดารา เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ ความเข้าใจการป้องกันภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้กับประชาชน
โดยการจัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในบทเพลง “อย่าโอน” เป็นสื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเนื้อเพลงที่จดจำได้ง่าย ติดหู ไว้ใช้เตือนสติ เตือนใจ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากรายงานพบแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์กำลังระบาดหนักมาอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในวงกว้าง มีการร้องเรียนจากหลายช่องทางถึงปัญหาดังกล่าว ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานเร่งติดตามแก้ไข และให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะการสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกหลอกลวง ใช้การประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เข้าใจง่าย เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรกลุ่มนี้
พร้อมขอบคุณและชื่นชมกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเหล่าศิลปินดารา นักร้องที่ร่วมมือกันประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ ความเข้าใจการป้องกันภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยให้กับประชาชนผ่านบทเพลง “อย่าโอน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีที่ประชาชนฟังแล้วจดจำได้ง่าย สามารถกระตุ้นเตือนให้ประชาชนไม่ไปหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรมาหลอกลวง
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามนางสาวรัศมี สีตลวรางค์ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ประพันธ์คำร้อง เพลง “อย่าโอน” ว่ามีแนวคิดที่จะแต่งเพลงอื่นอีกไหม ซึ่งนางสาวรัศมีกล่าวว่า มีแนวคิดที่จะแต่งเพลงเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อกระตุ้นเตือนคนในสังคมถึงพิษภัยยาเสพติด และไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างเพื่อหลอกลวงให้ประชาชนทำธุรกรรมด้านการเงินมีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก กลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงผ่านการใช้งาน Social media และใช้โทรศัพท์ข่มขู่ให้เหยื่อตกใจ หวาดกลัว ปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมาก จึงได้เปิดช่องทางรับแจ้งข้อมูลการกระทำความผิดเพื่อเฝ้าระวังอาชญากรรมที่ซ้ำเติมประชาชน ผ่านหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน DSI 1202 ปรึกษา ร้องเรียน ร้องทุกข์
โดยประชาชนสามารถป้องกันตัวเองเบื้องต้นได้ในกรณีที่มีคนร้ายติดต่อมา ให้พยายามขอข้อมูลในการติดต่อกลับไว้ และไม่ทำธุรกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น จากนั้นนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งความพนักงานสอบสวนท้องที่ที่อาศัยอยู่ เพื่อเป็นเบาะแสในการดำเนินคดีกับคนร้าย รวมทั้งสามารถแจ้งข้อมูลดังกล่าวไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทางสายด่วน 1202 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนติดตามร่องรอยคนร้าย
ส่วนในกรณีที่ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายโดยมีการโอนเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ต้องรีบแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุทันที และประสานธนาคารปลายทางที่โอนเงินไปให้ เพื่อติดตามร่องรอยทางการเงิน ทั้งนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชนนับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีบทลงโทษสูง ดังนั้น กลุ่มผู้กระทำผิด และผู้ที่สนับสนุนในทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอน ต้องหยุดการกระทำดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เปิด 4 มาตรการ สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงประชาชน
-รวบ สาวเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ DHL และ หลอกลงทุนอ้างชื่อแอปฯดัง