เริ่มใช้แล้ว ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท มีคุณลักษณะแบบไหน สังเกตได้อย่างไร พร้อม 17 คำถาม-คำตอบ ที่ควรรู้
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย และมีมาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษ และมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยและมีมาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษ ชนิดราคา 20 บาท รวมถึงมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพิ่มเติม
1. ทำไมถึงต้องเปลี่ยนวัสดุเป็นพอลิเมอร์
ธนบัตรที่ผลิตด้วยกระดาษ ด้วยเฉพาะชนิดที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือสูง สกปรกง่าย มีอายุใช้งานสั้นเพียง 2 ปี และเก่าเร็ว โดยการเปลี่ยนวัสดุที่ผลิตโดยพอลิเมอร์ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีคุณสมบัติทนทาน สะอาด และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย
2. ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบกระดาษ ยังคงใช้ได้หรือไม่
ธนบัตรแบบที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน ยังคงสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติต่อไป
3. ถ้าต้องการธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท สามารถแลกได้เมื่อไหร่และที่ใดบ้าง
สามารถแลกได้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ธนาคารทั่วประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง
4. มีการจำกัดปริมาณการแลกเปลี่ยนธนบัตรกระดาษ เป็นพอลิเมอร์ หรือ ถอนเงินเป็นธนบัตรพอลิเมอร์ หรือไม่
ประชาชนสามารถทยอยแลกธนบัตรพอลิเมอร์ได้ เนื่องจากธนบัตรแบบใหม่นี้จะใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนและจัดพิมพ์ในปริมาณที่เพียงพออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณธนบัตรพอลิเมอร์ที่แต่ละสาขาของสถาบันการเงินที่มีอยู่ในขณะนั้น
5. ธนบัตรพอลิเมอร์มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังครบถ้วน 100% หรือไม่
การนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเต็มจำนวนทุกฉบับ
6. ปัจจุบันมีประเทศใดใช้ธนบัตรพอลิเมอร์บ้าง
ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศ ที่ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ในหลายชนิดราคา เช่น แคนาดา ชิลี ซาอุดิอาระเบีย สก็อตแลนด์ และอังกฤษ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น
7. ธนบัตรพอลิเมอร์มีความแตกต่างจากธนบัตรกระดาษอย่างไร ในเชิงผู้ใช้งาน
ธนบัตรพอลิเมอร์มีลักษณะและรูปลักษณ์โดยรวม ไม่แตกต่างจากธนบัตรกระดาษ แต่เนื้อสัมผัสแตกต่างจากกระดาษและพลาสติกทั่วไป
8. ธนบัตรพอลิเมอร์มีลักษณะเด่นที่ช่วยในการต่อต้านการปลอมแปลงอย่างไร
ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเหมือนธนบัตรชนิดกระดาษปัจจุบัน
มีช่องใส เป็นจุดสังเกตที่สามารถมองทะลุได้ทั้งสองด้าน มีสีเหลือบแดงเมื่อพลิกเอียงธนบัตร และมีลายดุนนูนตัวเลข 20 ที่มีความนูน
9. ธนบัตรพอลิเมอร์แบบใหม่ จะดีกว่าธนบัตรพอลิเมอร์แบบเดิมที่เคยออกใช้อย่างไร (หมึกหลุดร่อน หดตัว โดนความร้อนไม่ได้ ละลาย พับแล้วสีลอกเป็นรอยพับ ยับย่นง่าย)
ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิต วัสดุการพิมพ์ และหมึกพิมพ์ ทำให้ธนบัตรพอลิเมอร์มีความทนทานต่อสภาพการใช้งานต่าง ๆ ทนความร้อนได้ดี มากกว่าแบบเดิม
10. ธปท. มีข้อแนะนำในการใช้งานธนบัตรอย่างไรบ้าง เพื่อให้ธนบัตรมีสภาพดีน่าใช้ตามที่ ธปท. คาดหวัง รวมถึง ข้อกังวลว่าธนบัตรจะใช้งานยาก ธนบัตรใหม่มากอาจติดกัน ทำให้ทอนผิด
ขอแนะนำ ไม่ให้เย็บด้วยลวดเย็บกระดาษ พับหรือกรีดธนบัตร เพื่อให้ธนบัตรมีสภาพดี สำหรับข้อกังวลเรื่องอาจเกิดปัญหาธนบัตรติดกัน แนะนำให้บิดหรือดัดเบา ๆ จะช่วยลดปัญหาการติดกันของธนบัตรใหม่ได้
11. สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้หรือไม่
แลกเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนชนิดราคาอื่น (เคาน์เตอร์ Exchange ในประเทศ)
12. ธนบัตรพอลิเมอร์ใช้กับเครื่องรับเงินอัตโนมัติได้ไหม เช่น ตู้ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า ตู้ซื้อสินค้า
ธปท. ได้แจ้งหน่วยงานที่ดูแลเครื่องรับเงินดังกล่าวให้ทราบล่วงหน้า และได้ประสานงานกันเพื่อเตรียมการรองรับให้ประชาชนสามารถใช้ธนบัตรแบบใหม่ได้อย่างกว้างขวาง
13. ผู้บกพร่องทางสายตาจะสังเกตธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท อย่างไร
ธนบัตรทั้งสองแบบมีความต่างกัน และลายดุนนูนเป็นตัวเลข 20 จะเป็นจุดสังเกตที่จะแนะนำให้แก่ผู้บกพร่องทางสายตา สำหรับการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ในครั้งนี้ ธปท. จะประสานงานสมาคมคนตาบอดฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ เพื่อสื่อสารและจัดกิจกรรมให้ผู้บกพร่องทางสายตา ได้รับทราบข้อมูลก่อนการออกใช้
14. ธปท. มีการควบคุมมลพิษอย่างไรในการทำลายธนบัตรพอลิเมอร์
ธปท. จะเผาทำลายภายใต้การควบคุมและบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโดยโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล
15. ธนบัตรพอลิเมอร์สามารถนำไป recycle ได้หรือไม่
ธนบัตรพอลิเมอร์ทำจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ชนิด BOPP (Bi-Oreinted Polypropylene) ซึ่งสามารถนำไป recycle ได้
16. ทำไม ธปท. จึงออกธนบัตรแบบใหม่ในขณะที่มีนโยบายส่งเสริม e-Payment
ธปท. มีนโยบายสนับสนุน e-Payment แต่สำหรับประชาชนบางกลุ่มที่ยังจำเป็นต้องชำระเงินในรูปแบบธนบัตร ธปท. จึงต้องพัฒนากระบวนผลิตต่อไป เช่น การเลือกใช้วัสดุที่มีความทนทานมากขึ้นและสิ้นเปลืองน้อยลง
17. ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบกระดาษ ที่หมุนเวียนในระบบมีอายุการใช้งานเท่าไร
ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่ผลิตด้วยกระดาษมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีอายุเฉลี่ยประมาณ 3 ปี เนื่องจากไม่ค่อยถูกนำกลับมาทำลาย ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ผลิตด้วยพอลิเมอร์ มีอายุการใข้งานประมาณ 5 - 7.5 ปี