ลูกชาย "วิทยา ศุภพรโอภาส" แถลงข้อคาใจการเสียชีวิตของคุณพ่อ จี้คำตอบจาก รพ.ดัง

28 เม.ย. 65

ลูกชาย "วิทยา ศุภพรโอภาส" พร้อมด้วย เป็ด เชิญยิ้ม ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ พร้อมด้วยทนายความ แถลงข้อคาใจการเสียชีวิตของคุณพ่อ จี้ รพ.ดัง ชี้แจง

เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 28 เม.ย. ที่ศาลาเมรุ วัดราชวรินทร์ ฝั่งธนบุรี นายศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส หรือเป้ บุตรชาย นายวิทยา ศุภพรโอภาส หรือเสี่ยแหบ นักจัดรายการวิทยุชื่อดังและผู้บุกเบิกวิทยุลูกทุ่งผู้วายชนม์ พร้อมด้วย ดร.ธัญญา โพธิ์วิจิตร หรือเป็ด เชิญยิ้ม ตลกชื่อดัง นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศ และ นายธงชัย พรเศรษฐ์ ทนายความของครอบครัว ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าสาเหตุการตายของ นายวิทยา และการดำเนินการต่อจากนี้ หลังครอบครัวและสังคมเคลือบแคลงสงสัยในมาตรการ การรักษาของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ นายวิทยา ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งปอด ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา  

นายศุภวิทย์ กล่าวว่า ตนยืนยันว่าคุณพ่อไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดแต่อย่างใด วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะมีการตั้งศพสวดพระอภิธรรมก่อนดำเนินการเก็บไว้ 100 วัน เพื่อรอการจัดการต่อไป ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงให้ฟังว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คุณพ่อเคยตรวจพบมะเร็งลำไส้ขั้นที่ 1 เข้ารับการทำคีโมและผ่าตัดรักษาตัวกับทีมแพทย์ รพ.ดัง จนหายขาดมาแล้วครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.2564 คุณพ่อมีอาการไอปนเลือดออกมา ทีแรกแพทย์ รพ.ดัง วินิจฉัยว่า เป็นเพราะกล่องเสียงอักเสบและมีแผลเนื่องจากคุณพ่อใช้เสียงมามาก จากนั้นก็นำคุณพ่อเอ็กซเรย์ปอดตามกระบวนการรักษา ปรากฏ พบก้อนเนื้อเป็นจุดที่ปอดทั้ง 2 ข้าง เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งปอดขั้นแรก จึงวางแผนการรักษาต่อเนื่องด้วยการทำคีโม อีก 8 ครั้ง จนก้อนเนื้อฝ่อลง

นายศุภวิทย์ กล่าวอีกว่า จนกระทั่งเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แพทย์ให้คำแนะนำว่า หากอยากมั่นใจอยากให้หายขาด ขอให้ทำการผ่าตัดนำก้อนเนื้อทั้ง 2 ก้อน ออกจากปอด โดยแพทย์ยืนยันว่าจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 10 ปี คุณพ่อและตนรวมถึงญาติๆ ก็ตกลงโดยช่วยกันเตรียมร่างกายก่อนเข้ารับการผ่าตัด จนถึงวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันนัดทำการผ่าตัด คุณพ่อเตรียมเป้แบกเข้าโรงพยาบาลไปด้วยอาการแข็งแรงปกติไม่เหมือนคนป่วย คุณพ่อยังบอกตนด้วยว่า รอเดี๋ยวเดียวจะกลับออกมา การดำเนินการผ่าตัดวันนั้นใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง จนเวลาบ่ายสาม ทางโรงพยาบาลโทรศัพท์มาบอกตนว่า ยังไม่สามารถเยี่ยมได้เพราะต้องรอดูอาการในห้องไอซียู เสียก่อน 24 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างนั้นก็มีแพทย์ที่เป็นญาติกันเข้าไปเยี่ยมส่งข่าวออกมาบอกเช่นกันว่าคุณพ่อรู้สึกตัวดีทักทายกันได้ตามปกติและขอให้ตนกับญาติไปเยี่ยมได้ที่ห้องพิเศษในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 4 เม.ย.2565

"พอตีสาม วันที่ 4 เม.ย.กลับมีโทรศัพท์จากห้องไอซียู รพ.ดัง ติดต่อมาหาตน แจ้งว่า คุณพ่ออาการทรุดลง ตนจึงรีบเดินทางไปที่โรงพยาบาลทันที พบว่า ทีมแพทย์กำลังช่วยกันยื้อสัญญาณชีพกันอยู่ จากนั้นมีตัวแทนทีมแพทย์ที่ให้การรักษามาบอกตนว่า คุณพ่อมีเลือดออกจากปอดต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) ที่จำเป็นต้องหยิบยืมมาจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยหลังจากนั้นจะต้องนำตัวคุณพ่อไปรักษาต่อที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ด้วย ตนก็รอจนถึง 07.00 น. กว่าเครื่องจะถูกส่งมา และในเวลา 12.00 น.ของวันเดียวกันคุณพ่อก็ถูกส่งตัวจาก รพ.แห่งหนึ่ง ไปรักษาตัวต่อที่ รพ.จุฬาลงกรณ์"

นายศุภวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ช่วงบ่ายหลังจากที่คุณพ่อถูกนำตัวส่งถึง รพ.จุฬาลงกรณ์ แล้ว มีแพทย์มาแจ้งให้ทราบว่าเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ระหว่างที่คุณพ่อ รอดูอาการอยู่ที่ไอซียู รพ.ดัง จู่ๆ ก็เกิดภาวะหายใจลำบาก ทางทีมแพทย์ห้องไอซียู จึงสอดท่อช่วยหายใจเข้าไปทำให้ปอดแตก ทั้งที่เพิ่งผ่าตัดปอดมาหมาดๆ ทำให้ทาง รพ.ดัง ต้องทำเรื่องขอยืม เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) และส่งต่อคุณพ่อมารักษากับทาง รพ.จุฬาลงกรณ์ นอกจากนั้นแพทย์ยังบอกด้วยว่า หากรักษาหายดีแล้วคุณพ่อจะไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม เนื่องจาก 1.สมองขาดออกซิเจนไปเลี้ยงนานมากแล้วทำให้สมองตาย และ 2.จะต้องทำการตัดแขนซ้ายออกเนื่องจากเนื้อเยื่อแขนซ้ายตายจากผลการรักษาด้วยอุปกรณ์ขณะกู้สัญญาณชีพ ถึงอย่างนั้นก็ตามตนและญาติๆ ก็ยังรอปาฏิหาริย์แม้ว่าจะต้องสูญเสียแขนซ้ายของคุณพ่อไปก็ตาม

"การดำเนินการรักษาดำเนินมาถึงวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งก็คือวันที่คุณพ่อเสียชีวิต หลังการตาย ตนกับญาติๆ ได้ตั้งข้อสงสัยไปถามทาง รพ.ดัง จำนวน 4 ข้อ คือ 1.ทาง รพ.ผ่าตัดคุณพ่ออย่างไรมีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือภาวะวิกฤติ 2.คุณพ่อรู้สึกตัวดีแล้วหลังผ่าตัดแล้วทำไมจึงเกิดภาวะวิกฤติขึ้นได้ 3.เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นแล้วทาง รพ.ช่วยเหลืออย่างถูกต้องหรือไม่ทำไมทำให้คุณพ่อปอดฉีกทั้งที่เพิ่งผ่าตัดปอดออกมา และ 4.เมื่อรู้อยู่แล้วว่าอาจเกิดวิกฤติจนต้องใช้ เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) เหตุใดทาง รพ.ดังไม่เตรียมการไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทว่าทาง รพ.กลับทำได้แค่แสดงความเสียใจ ตอบปัดความรับผิดชอบโดยให้เหตุผลว่า ปฏิบัติตามมาตรฐานทุกอย่างเป็นอย่างดีแล้ว" นายศุภวิทย์ กล่าว

ด้าน ดร.ธัญญา โพธิ์วิจิตร หรือเป็ด เชิญยิ้ม กล่าวว่า ตนกับ นายวิทยา รู้จักกันมานาน สนิทสนมกันเสมือนเป็นญาติพี่น้อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 25-26 มี.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งไปตีกอล์ฟ ด้วยกัน 18 หลุม ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ สังเกตเห็น นายวิทยา เเข็งแรงดีไม่เหมือนคนอายุ 72-73 ปี ทั่วไป เจ้าตัวยังปั่นจักรยานผาดโผนได้ ซึ่งตนก็ยังเตือนไปว่า อายุมากขึ้นให้หาจักรยานในร่มไปปั่นที่บ้านได้แล้ว กระทั่งหลังจากกลับจากเขาใหญ่ ก็มีการส่งสติ๊กเกอร์ไลน์ทักทายกันตามปกติอีกราวๆ 1 สัปดาห์ ก่อนที่ นายวิทยา จะหายไป พอมารู้อีกทีก็คือ นายวิทยา เสียชีวิตแล้ว ซึ่งตนไม่รู้มาก่อนว่าเจ้าตัวจะต้องเข้ารับการผ่าตัดด้วยโรคมะเร็งปอดและไม่เชื่อว่าคนที่แข็งแรงดี อุตว่าห์แบกเป้เข้าโรงพยาบาลไปผ่าตัดด้วยตัวเอง จะต้องมาจบชีวิตลงแบบนี้

ขณะที่ นายธงชัย พรเศรษฐ์ ทนายความซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากครอบครัว กล่าวว่า ตนเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่ รพ.ดัง เรียกเก็บในราคา 2.7 ล้านบาท ขอยืนยันว่าสาเหตุการตายของ นายวิทยา ที่แพทย์ชันสูตรเบื้องต้นและระบุในมรณะบัตรนั้นเกิดจากภาวะสมองตาย ไม่ใช่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดแต่อย่างใด

นายวิทยา ไม่ใช่ผู้ป่วยวิกฤติที่มีโอกาสเสียชีวิตในระหว่างผ่าตัด เนื่องจากทางเจ้าตัวและทางโรงพยาบาลมีการวางแผนก่อนเข้ารับการผ่าตัดยาวนานถึง 7-8 เดือน ที่สำคัญในวันที่เข้ารับการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้วยังรู้สึกตัวดี สื่อสารกับคนใกล้ชิด และบุคลากรในห้องไอซียูได้ หลังจากนี้ทาง รพ.ดัง ต้องตอบคำถามญาติๆ ให้ได้ก่อนว่า เมื่อเกิดวิกฤติกับ นายวิทยา แล้ว ทางโรงพยาบาลรักษากันอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยอายุ 72-73 ปี ที่จะเข้ารับการผ่าตัดนั้นจะต้องมีมาตรการเตรียมการที่ดี ไม่ใช่ว่าจะต้องทำเรื่องหยิบยืมเครื่องมือจากทาง รพ.รัฐบาลระหว่างให้การรักษาแบบนี้ โดยหลังจากนี้จะรอผลการผ่าชันสูตรจากแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ อย่างละเอียดส่งมาอีกครั้งก่อนดำเนินการตามที่ญาติสั่งการต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "วิทยา ศุภพรโอภาส" ไม่ได้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด ลูกชาย ชี้ การช่วยเหลือล่าช้าผิดพลาด
- สุดอาลัย "วิทยา ศุภพรโอภาส" ผู้บุกเบิกลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. มะเร็งคร่าชีวิต ในวัย 72 ปี

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส