ภูเก็ตเร่งตามแกะรอยชายชาวไนจีเรียป่วยฝีดาษลิง รายแรกของไทย หนีการรักษา พบผู้เสี่ยงสูงแล้ว 6 ราย
จากกรณีที่กรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) กองระบาดวิทยาและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 พบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย
โดยให้ข้อมูลการป่วยว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) และต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ค. 65 และทีมสอบสวนควบคุมโรครวบรวมข้อมูลการสอบสวนทั้งข้อมูลอาการทางคลินิก ข้อมูลระบาดวิทยา และข้อมูลห้องปฏิบัติการเข้าพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในบ่ายวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ผลสรุปว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยได้ประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตเพื่อมอบหมายเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการติดตามและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพร้อมประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มข้น
ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ค.) นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ผู้ป่วยพักที่คอนโดแห่งหนึ่งใน อ.กะทู้ ผู้ป่วยรายนี้ประสานจะเข้ารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่มาตามนัดและปิดโทรศัพท์ ติดต่อไม่ได้ พบว่าออกไปจากคอนโดเมื่อวันที่ 19 ก.ค.65 ตามภาพจากกล้องวงจรปิด ไปพักในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ป่าตอง ตอนเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ของวันที่ 20 ก.ค.65 ตำรวจให้แท็กซี่ไปรับตัวมาพบเนื่องจากถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง แต่เวลา 21.00 น. ผู้ป่วยเอากุญแจวางทิ้งไว้และออกจากโรงแรมไป ยังไม่ยืนยันว่าอยู่ในพื้นที่หรือออกนอกพื้นที่ไปแล้ว กำลังอยู่ระหว่างติดตามตัว
ขณะนี้พบสัมผัสเสี่ยงสูง 6 ราย สอบสวนสถานบันเทิง 142 ราย ผลตรวจวันแรก 7 ราย ยังไม่พบเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ ที่แอฟริกาเป็นสายพันธุ์รุนแรง รายนี้เป็นเวสต์แอฟริกา เป็นเชื้อ A2 จัดว่าไม่รุนแรง ทั้งนี้ฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนโควิด ต้องสัมผัสสารคัดหลั่ง ใกล้ชิดเนื้อแนบเนื้อ ไอจามใส่หน้า จึงจะติดกันได้ จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกมากจนเกินไป