วันที่ 7 เม.ย. 62 เวลา 10.00 น. กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานคุณภาพอากาศ บริเวณ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ว่าจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 154 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้านสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเวลา 01.42 น. ดาวเทียมระบบ VIIRS (GISTDA) พบจุดความร้อน 128 จุด ได้แก่ อ.แม่สะเรียง 35 จุด อ.ปาย 31 จุด อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 26 จุด อ.สบเมย 21 จุด อ.ขุนยวม 8 จุด อ.ปางมะผ้า 4 จุด และ อ.แม่ลาน้อย 3 จุด โดยจุดไฟป่าในพื้นที่แม่ฮ่องสอน สูงที่สุดในภาคเหนือ สถานการณ์ยังคงน่าวิตก
นางสุดารัตน์ ขาวลา อายุ 56 ปี ชาวบ้านบ้านนาหมากปิน ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งบ้านอยู่ใกล้กับโรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางประชาชนบ้านนาหมากปินได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกลิ่นควันโรงงานและยิ่งปัจจุบันบวกกับสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก เดิมเคยร้องเรียนเมื่อ ปี 2559 ซึ่งทางโรงงาน ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่สัญญากับชาวบ้านไว้แต่อย่างใด นอกจากร้องเรียนแล้วยังมีการเจรจากันระหว่างราษฎรกับเจ้าของโรงงาน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงขอวอนให้สื่อมวลชน เป็นสื่อกลางผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนด้วย
สำหรับโรงงานผลิตแอสฟัลติกคอนกรีตดังกล่าว พบว่า เคยมีราษฎรได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้ว 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่า ได้มีการสั่งยุติเรื่อง และระบุว่าไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด ทั้งที่ในการผลิตแต่ละครั้งจะมีการใช้ยางรถยนต์ใช้แล้ว เป็นเชื้อเพลิงในการเคี่ยวยางมะตอย ทั้งนี้ ในเอกสารของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระบุว่า ในการตั้งโรงงาน ทางโรงงานจะต้องควบคุมด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ร้องเรียนต่างยืนยันว่า เมื่อมีการร้องเรียนไปแล้ว ก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย สนง.อุตสาหกรรมจังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด ฯ, สนง.สิ่งแวดล้อม, สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และอีกหลายหน่วยงานลงไปตรวจสอบ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า วันที่จะมีหน่วยงานรัฐลงพื้นที่ โรงงานดังกล่าว ได้ยุติการผลิต หลังจากผ่านการตรวจเสร็จแล้ว ก็หวนมาเดินเครื่องผลิตเช่นเดิม โดยผลกระทบต่อประชาชนนั้น ทางเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราษฎรเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด จนทำให้ผู้ร้องเรียนต้องท้อถอยไม่กล้าร้องเรียนอีก เพราะถ้าร้องเรียนไปที่เดิม ก็จะประสบปัญหาเหมืนเดิม จึงต้องร้องผ่านสื่อมวลชน