"ทิพานัน" โต้ ปมหอเตือนภัยน้ำท่วมอุบลฯ ตอก "พิธา" ซ้ำเติมร้อนประชาชน

10 ต.ค. 65

“ทิพานัน” แจง 4 ประเด็น ปมหอเตือนภัยน้ำท่วมอุบลฯ ซัด “พิธา” ขาดความรู้สื่อสารบิดเบือน ซ้ำเติมวิกฤติความเดือดร้อนประชาชน

วันที่ 10 ต.ค.65 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเผยแพร่สื่อหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 โดย น.ส.ทิพานัน ระบุว่า เป็นคลิปมีข้อความบิดเบือนคลาดเคลื่อน เป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวที่ไม่มีหลักฐานประกอบที่แน่ชัด และไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ โดยหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวหาว่า การทำงานของหอเตือนภัยในพื้นที่ชุมชนกุดแสนตอ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ที่เพิ่งก่อสร้างหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2562 ในน้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีการแจ้งเตือนจากหอเตือนภัยแต่อย่างใด มีแต่เปิดเพลงชาติทุกวันพุธ
 
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐาน การให้ข้อมูลไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นการวิจารณ์ที่ไม่อยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริง ทำลายขวัญกำลังใจของคนทำงานทั้งหมด เพื่อไม่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความจริงจนทำให้สังคมสับสนและทำลายกำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนทุกพื้นที่ในช่วงวิกฤตินี้ จึงต้องขอชี้แจงว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หน่วยงานรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพคือ
 
1. การแจ้งเตือนภัยไปยังหอเตือนภัยในพื้นที่นั้น เป็นการประเมินร่วมกันระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง เมื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายหรือมีการประสานมาจากพื้นที่ติดตั้งหอเตือนภัย ให้กดส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัย ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีความเร่งด่วน ฉับพลัน และฉุกเฉิน เท่านั้น ไม่ต้องแจ้งเตือนภัยทุกวันตามที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลเข้าใจผิด
 
2. หอเตือนภัย ปภ.ได้กำหนดให้มีการทดสอบการทำงานโดยเปิดเพลงชาติทุกวันพุธ ซึ่งเป็นรูปแบบของการทดสอบและเตรียมความพร้อมของระบบพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ เพื่อตรวจความพร้อมใช้ในการใช้งานของหอเตือนภัยแต่ละแห่ง
 
3. สำหรับกรณีการเกิดน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี ทาง ปภ. ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการแจ้งให้ประชาชนรับทราบข้อมูลสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งผ่านกลไกหมู่บ้าน/ ชุมชน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี มีระดับในแม่น้ำมูลสูงขึ้น
 
4. กลไก วิธีการและเครื่องมือในการแจ้งข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยในปัจจุบันเป็นการใช้วิธีการและช่องทางเครื่องมือที่หลากหลาย ประกอบด้วย การให้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสารมวลชน สื่อออนไลน์ แอบพลิเคชัน การแจ้งเตือน เมื่อคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะเกิดสาธารณภัยผ่านหน่วยงานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยังหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อแจ้งผ่านหอกระจายข่าว/หอกระจายเสียงประจำหมู่บ้าน/ชุมชน การแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ
 
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า หอเตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงภัยสำหรับกรณีอาจจะเกิดสาธารณภัยฉับพลัน ฉุกเฉินหรือเร่งด่วน และที่ผ่านมาในรอบปี พ.ศ.2565 ปภ.ได้มีการแจ้งเตือนภัยผ่านหอเตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่มาโดยตลอด อาทิ วันที่ 26 กันยายน 2565 หอเตือนภัย อ.เมือง จ.เลย วันที่ 28 กันยายน 2565 หอเตือนภัย อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี หอเตือนภัย อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.เมือง จ.เลย หอเตือนภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 2 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.เมือง จ.เลย หอเตือนภัย อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย วันที่ 5 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น หอเตือนภัย อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร วันที่ 6 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร และวันที่ 8 ตุลาคม 2565 หอเตือนภัย อ.แม่สาย จ.เชียงราย
 
“หากหัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่มีความรู้เรื่องหอเตือนภัยและกลไกการแจ้งเตือนภัยก็สามารถสอบถามข้อมูบที่สายด่วน ปภ หมายเลข 1784 สามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดในช่วงวิกฤติ แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน กลับกลายเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในยามทุกข์ยากลำบาก ดังนั้นการสื่อสารจึงเหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่จะช่วยให้ภาวะวิกฤติผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลควรกลัดกระดุมให้ถูกต้อง อย่าสื่อสารผิดพลาดบิดเบือน จะทำลายกำลังใจของคนทำงาน เจ้าหน้าที่ทุกระดับและอาจทำลายสังคมโดยไม่รู้ตัว ขอให้พึงระวังตรงนี้ด้วย ” น.ส.ทิพานัน กล่าว

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส