ลูกชาย "วิทยา ศุภพรโอภาส" ฟ้อง 191 ล้าน รพ.เอกชนชื่อดัง ปมการเสียชีวิต

23 มี.ค. 66

ลูกชาย "วิทยา ศุภพรโอภาส" นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ฟ้อง 191 ล้านบาท โรงพยาบาลเอกชน-ผู้เกี่ยวข้อง ปมการเสียชีวิต

จากกรณีการเสียชีวิตของ นายวิทยา ศุภพรโอภาส เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 หลังเข้ารับการผ่าตัดชิ้นเนื้อมะเร็งปอดทั้งสองข้าง ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565

โดยทาง นายศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส ลูกชายนายวิทยา ศุภพรโอภาส และญาติ ๆ ต่างติดใจสาเหตุการเสียชีวิต เนื่องจากนายวิทยาได้ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดเป็นอย่างดี และทีมแพทย์ประเมินแล้วว่าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวได้ ซึ่งหลังการผ่าตัด นายวิทยา ปลอดภัย สามารถทักทายกับญาติได้ โดยพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู 

​แต่ปรากฏว่า คืนวันเดียวกันนั้น  นายวิทยา มีอาการวิกฤตจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการไม่ดีขึ้น จนต้องขอยืมเครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) มาจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งใช้ระยะเวลาขนย้ายเครื่องมาประมาณ 3 ชั่วโมง จึงได้ใช้ในการช่วยเหลือชีวิตนายวิทยา แต่ก็ต้องย้ายนายวิทยาไปที่ห้องไอซียูของโรงพยาบาลจุฬาฯ ในที่สุด

​จน 48 ชั่วโมงต่อมา ทางทีมแพทย์ได้ยืนยันว่า นายวิทยาสมองตาย จากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2565 นายวิทยาก็จากไปอย่างสงบ

หลังคุณวิทยาเสียชีวิต ทางโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ได้เรียกทางครอบครัวเข้าไปพูดคุยและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมด โดยแจ้งว่า ทางโรงพยาบาลฯ ได้ทำตามขั้นตอนและมาตรฐานต่าง ๆ แล้ว

แต่นายศุภวิทย์และญาติ ต่างติดใจถึงสาเหตุการเสียชีวิตของนายวิทยา โดยมีข้อสงสัยหลายประการ คือ

1.การประเมินของทีมแพทย์ผ่าตัดที่ให้ทำการผ่าตัดปอดทั้งสองข้างพร้อมกันได้ มีความถูกต้อง และได้เตรียมความพร้อมหลังผ่าตัดไว้แค่ไหน

2.เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น และนายวิทยาฟื้นแล้ว เกิดเหตุการณ์อะไร ที่ทำให้นายวิทยาอยู่ในภาวะวิกฤตอีก จนถึงขั้นต้องทำการช่วยชีวิต (ทั้งที่ห้องไอซียู ต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ครบถ้วน)

3.การช่วยชีวิตนายวิทยาในห้องไอซียูของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเป็นอย่างไร (การใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่งผลกระทบต่อปอดที่ทำการผ่าตัด จนปอดฉีก มีเลือดออก ถูกต้อง หรือสมควรหรือไม่) ทำให้สมองคุณวิทยาขาดออกซิเจน จนถึงขั้นวิกฤตหรือไม่​

4.เมื่อคุณวิทยา มีอาการวิกฤตแล้ว และต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO) แต่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวต้องขอยืมและขนย้ายเครื่อง ECMO มาจากโรงพยาบาลจุฬา โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เหตุใดจึงไม่มีการเตรียม เครื่อง ECMO ไว้ที่ โรงพยาบาลฯ แต่แรก และเครื่อง ECMO มาถึงช้าเกินไปหรือไม่ 

​เพราะอะไร จึงต้องรอเครื่อง ECMO ถึง 3 ชั่วโมง และเมื่อเครื่อง ECMO มาถึงแล้ว ทำไมต้องย้ายนายวิทยาไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯอีก หากไม่มีเครื่อง ECMO ที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวตั้งแต่แรก ควรทำการผ่าตัดนายวิทยาหรือไม่ 

ตามเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อสงสัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นายศุภวิทย์และครอบครัว จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมถึงเหตุจากการเสียชีวิตของ นายวิทยา ศุภพรโอภาส ว่าเกิดจากความบกพร่อง หรือประมาทเลินเล่อของทางโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวและผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร

ในวันนี้ นายศุภวิทย์ ศุภพรโอภาส ในฐานะตัวแทนครอบครัวศุภพรโอภาส และตัวแทน บริษัท เอ็กซ์เพรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด จึงได้ยื่นฟ้อง โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวและผู้เกี่ยวข้อง ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด ตัวการ ตัวแทน และเรียกค่าเสียหาย เป็นทุนทรัพย์ 191 ล้านบาทเศษ เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไป ​

 

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส