เผยสาเหตุ ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ค่าไฟแพงขึ้น การไฟฟ้านครหลวง อธิบายสาเหตุหลักจะมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่างๆ
ค่าไฟแพง เรื่องราวที่ประชาชนหลายคนกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากหลายบ้าน ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ค่าไฟกลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จนโลกออนไลน์พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #ค่าไฟแพง ขึ้นมา พร้อมกับนำบิลค่าไฟฟ้าออกมาเทียบระหว่างเดือนปัจจุบันที่ต้องชำระ กับ บิลค่าไฟของงวดก่อนหน้า
เกี่ยวกับเรื่องนี้ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) มีการอธิบายปรากฏการณ์ หน่วยไฟ เพิ่มว่า หากตรวจสอบแล้วหน่วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งที่การใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม ก็ไม่ต้องสงสัย เพราะสาเหตุหลักจะมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่าง ๆ จะ “กินไฟเพิ่ม” เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เท่าเดิมทั้งจำนวนชิ้นและระยะเวลาการเปิดใช้
เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ จะพยายามทำความเย็น หรือทำอุณหภูมิให้เท่ากับที่เราตั้งค่าไว้ แต่พออากาศร้อนขึ้น เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้เท่าเดิมนั่นเอง ส่งผลให้แอร์หรือตู้เย็นทำงานหนัก คอมทำความเย็นจะทำงานตลอดโดยไม่ตัดเลย ถึงใช้เวลาเท่าเดิมอย่างไรอัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่ม
อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ก็ได้ชี้แจ้งผลมติในที่ประชุมภายหลังเห็นชอบค่าเอฟทีเป็นอัตราเดียวกัน สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ค่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย แล้วได้มีการประกาศแจ้งประชาชนแล้วก่อนหน้านี้ไปหนึ่งครั้ง
และล่าสุด กกพ. ก็ได้พิจารณาหนังสือยืนยันจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) ถึงความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้าดังนี้ ค่าเอฟที งวด มกราคม-เมษายน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยในระดับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.72 บาท ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาท
ส่วนบิลไฟฟ้าในงวดใหม่ พฤษภาคม - สิงหาคม 2566 จะเป็นอัตราเดียว ทำให้ค่าไฟที่อยู่อาศัยปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.05 บาทต่อหน่วยขณะที่ภาคธุรกิจจะปรับลดลง 0.56 บาทต่อหน่วย
ค่า Ft คืออะไร
สำหรับ ค่า Ft คือ คำที่เรียกสั้น ๆ ของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า